เตือนภัย "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" การไฟฟ้า หลอกคืนเงินค่าไฟ

14 เม.ย. 2566 | 12:42 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2566 | 13:30 น.

เตือนภัยออนไลน์ล่าสุด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้าง เป็น กฟภ. หลอกคืนเงินประกันค่าไฟฟ้า 2,000-6,000 บาท ให้ประชาชนตามมาตรการรัฐ ขณะ ตำรวจเตือน ไม่กดลิงค์ที่ไม่รู้จัก เสี่ยงถูกฝั่งแอปควบคุมมือถือ มีสติ อย่าโลภ

14 เมษายน 2566 - อัปเดตล่าสุด เรื่องภัยออนไลน์ ของกลุ่มมิจฉาชีพ โดยมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แจ้งว่า ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืน เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามมาตรการเร่งด่วน

ซึ่งเมื่อผู้เสียหายกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มิจฉาชีพปลอมขึ้นมา จากนั้นมิจฉาชีพจะสอบถามรายละเอียดต่างๆ เริ่มจากสอบถามว่า ได้รับการแจ้งเตือนมาจากช่องทางใด แจ้งผู้เสียหายว่าจะได้รับเงินประกันคืนในอัตราตั้งแต่ 2,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ที่ใช้ 

แกล้งทำเป็นสอบถามว่าโทรศัพท์ที่ใช้งานใช้ระบบปฏิบัติการ Android หรือ IOS พร้อมทั้งขอหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับ เมื่อตอบคำถามเสร็จสิ้น จะมีหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยโทรฯ มายังผู้เสียหาย อ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วทำการส่งลิงก์ทางไลน์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(ปลอม) อ้างว่าเป็นแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ล่าสุด สามารถตรวจสอบปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ได้ในแต่ละวัน 

เตือนภัย \"แก๊งคอลเซ็นเตอร์\" การไฟฟ้า หลอกคืนเงินค่าไฟ

โดยมีการขอสิทธิติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (ไฟล์อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .apk) มีการหลอกให้ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จำนวนหลายๆ ครั้ง เพื่อหวังให้ผู้เสียหายกรอกรหัสชุดเดียวกับรหัสเข้าถึง หรือทำธุรกรรมการเงินของแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย รวมไปถึงขอสิทธิในการควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ เช่น ดูและควบคุมหน้าจอ ดูและดำเนินการ เป็นต้น

โดยในขั้นตอนนี้ มิจฉาชีพจะแสร้งหวังดีสอนผู้เสียหายว่าทำอย่างไร โดยการโทรศัพท์มาแจ้งวิธีการด้วยตนเอง กระทั่งเมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิควบคุมอุปกรณ์หรือโทรศัพท์มือถือแล้ว จะทำการล็อกหน้าจอโทรศัพท์ ทำให้เสมือนโทรศัพท์ค้าง ซึ่งมักจะแสดงข้อความว่า อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือ ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำรหัสที่ผู้เสียหายเคยกรอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ ทำการโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย

เตือนประชาชนอย่าโลภ ต้องมีสติ ระวังถูกหลอกติดตั้งแอปพลิเคชั่นปลอม

ทั้งนี้ ตำรวจ กล่าวว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าว ยังคงเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ เพียงแต่มิจฉาชีพจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน และเปลี่ยนเนื้อหาไปตามวันเวลา และสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งว่าได้รับสิทธิ หรือได้รับเงินคืน ให้อัปเดตข้อมูล โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะหลอกลวงให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้าง ที่ผ่านมาก็ปรากฏในหลายๆ หน่วยงาน มิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภ ของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้ความสมัครใจของเหยื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม มีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ประกาศยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) หรือส่งอีเมลไปยังประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ

ทั้งนี้ฝากย้ำเตือนไปยังประชาชน ไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) หรือลิงก์ ในลักษณะดังกล่าว ให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

10 แนวทางการป้องกัน มิจฉาชีพ

  1. ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ
  2. หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
  3. ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
  4. ระวัง LINE Official Account ปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีโล่เลย จะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
  5. ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
  6. ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk
  7. ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
  8. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ
  9. หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
  10. อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

ปรึกษา หรือ แจ้งเบาะแส โทร 1441 หรือ 081-866-3000