ไปรษณีย์ไทย ปรับโฉม เปิดแพลตฟอร์ม Prompt Post ทำ "ตู้จดหมายดิจิทัล"

22 พ.ค. 2566 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2566 | 04:50 น.

ไปรษณีย์ไทย ปรับโฉมรับยุคไฮเทค เปิดแพลตฟอร์ม Prompt Post ทำ "ตู้จดหมายดิจิทัล"  บริการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท. เปิดเผยถึงแผนพัฒนาธุรกิจและสร้างศักยภาพบริการไปรษณีย์ไทย ว่า ไปรษณีย์ไทย สร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาให้บริการระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรในระบบ Prompt Post เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ระบบ Prompt Post จะมีรูปแบบเป็น “ตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล” แพลตฟอร์มใหม่นี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว เที่ยงตรงแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง

 

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด

 

เหตุผลที่เปิดตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล เนื่องจากไปรษณีย์ไทยให้บริการ "ตู้จดหมาย" ที่อยู่หน้าบ้านของประชาชนทั่วประเทศอยู่แล้ว เมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้น ตู้จดหมายกลายเป็นรับจดหมายของทุกคนในบ้าน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป จริงๆ แล้วเอกสารหรือจดหมายนั้นควรจะเป็นของใครของมัน ดังนั้น เมื่อไปรษณีย์ไทยเสนอเปลี่ยนตู้จดหมายที่อยู่หน้าบ้านให้เป็น "ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์" จะเพิ่มระดับการอำนวยสะดวกให้กับประชาชน
 
ดร.ดนันท์เปิดเผยว่า ในด้านความปลอดภัยของการใช้ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ จะต้องผ่านระบบการยืนยันตัวตนจากบัตรประชาชน เป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบดูว่าบุคคลนั้นๆ มีเลขบัตรประชาชนถูกต้องมีตัวตนอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ถ้าได้รับการยืนยันตัวตนถูกต้องสามารถใช้ ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ ได้  

“การรับ-ส่งเอกสารก็เหมือนกับการส่งจดหมายธรรมดาตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ยกตัวอย่างจดหมายลงทะเบียนที่เกี่ยวกับธุรกิจ เมื่อเขียนเสร็จต้องเซ็นชื่อหรือลายเซ็น เมื่อมาเป็นแบบอีเล็กทรอนิกส์ก็เปลี่ยนเป็นลายเซ็นอีเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ซิกเนเจอร์ (e-signature)กำกับความถูกต้องและการันตีว่าไม่มีการปลอมแปลง”

ส่วนข้อแตกต่างระหว่างดิจิทัลเมล์บ็อกซ์และอี-เมล์ ดร.ดนันท์ กล่าวว่าอี-เมล์ นั้น เวลาใครส่งอะไรเข้ามาในเมล์ของเราบางทีมีสแปม(spam) หรือข้อความที่ส่งมาผ่านอีเมล์โดยไม่ได้ร้องขอและไม่รู้ว่าใครส่งอะไรมา แต่ Prompt Post เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นระบบปิด เพราะฉะนั้นคนส่งอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน และ จะต้องรู้จักลูกค้าพิสูจน์ตัวตนได้ถูกต้อง หรือ KYC (Know Your Customer) ก่อน

“คนที่ใช้ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ จะรู้ตัวตนทั้งที่ต้นทาง-ปลายทางทั้งหมด ทุกอย่างคือของจริง ไม่มีสแปมโผล่มา โดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐซึ่งให้บริการสาธารณะ จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมากเวลาต้องส่งเอกสาร บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน” ดร.ดนันท์กล่าวและว่า ทุกอย่างสามารถแปลงมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเก็บไว้ในตู้เซฟหรือกล่องเมล์บ็อกซ์ เมื่อต้องการส่งหรือจะใช้หลักฐานเอกสารต่างๆ สามารถดึงไฟล์จากเมล์บ็อกซ์ ส่งได้เลย ทางหน่วยงานรัฐจะรับเอกสารเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ ยกตัวอย่าง พาสปอร์ต สามารถทำเอกสารและส่งเป็นดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ให้กับผู้ขอพาสปอร์ต หรือสั่งพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ใส่ซองส่งไปที่บ้านของผู้รับก็ได้เช่นกัน

ในส่วนลายเซ็นอิเลคทรอนิกส์ (e-signature) ว่า ไม่มีการปลอมแปลงแน่นอน เพราะทุกอย่างต้องผ่านระบบการยืนยันตัวตน เวลานี้ไปรษณีย์ไทยหารือกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานเพื่อทำโครงการนำร่อง คาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้ เริ่มใช้ได้เลยทันที

ดร.ดนันท์ กล่าวต่อว่า เมื่อไปรษณีย์ไทยเปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นดิจิทัลเมลบ็อกซ์แล้ว ไปรษณีย์ไทยไม่มีการปรับลดพนักงาน แต่จะปรับเปลี่ยนหน้าที่พนักงานบางส่วน พัฒนาให้บุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่กว่า 20,000 คน แนะนำสินค้าให้กับคนในชุมชน รับออเดอร์สั่งซื้อ และนำสินค้ามาส่งได้แบบตามต้องการ หรือที่เรียกว่าธุรกิจค้าปลีก (retail) เป็นการนำจุดแข็งของบุรุษไปรษณีย์ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนเข้ามาใช้

อย่างไรก็ตาม เมื่อการส่งจดหมายแบบเดิมๆเปลี่ยนมาเป็นเมล์บ็อกซ์ บุรุษไปรษณีย์เราก็สามารถมาทำอี-คอมเมิร์ช ตรงนี้จะโตขึ้น เพราะต่อไปเมืองมีการขยายตัว พื้นที่ในการส่งของก็กว้างขึ้นตลอดเวลา พื้นที่กว้างขึ้นก็ต้องใช้คนมากขึ้น ไปรษณีย์ไทยบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และอีกหนึ่งโรดแมปของไปรษณีย์ไทย คือไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการขนส่ง แต่จะเป็น Data Company ด้วย

"ผมมองไปรษณีย์ไทยในอนาคตคือ เราเป็นอินฟอร์เมชั่น โลจิสติก ( Information Logistics) นี่คือวิชั่นที่เราจะก้าวต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องเดต้าที่เกิดจากการขนส่ง โลจิสติกส์ อินฟอร์เมชั่น เหล่านี้แหละคือธุรกิจในอนาคตของไปรษณีย์ไทย” ดร.ดนันท์กล่าว