เปิดขั้นตอน "ยื่นจัดการมรดกออนไลน์" ง่ายๆด้วยตัวเอง

08 ก.ค. 2566 | 22:43 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 00:36 น.

สำนักงานศาลยุติธรรม เปิดขั้นตอน "ยื่นจัดการมรดกออนไลน์" ง่ายๆด้วยตัวเอง ผ่านระบบ e-Filing ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่น รายการเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ ตรวจสอบพื้นที่รองรับการยื่นจัดการมรดกออนไลน์ ที่นี่

"ผู้จัดการมรดก" เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในกระแสสังคมอย่างแพร่หลาย จากกรณีบุคคลทางการเมืองถือครองหุ้นในฐานะ "ผู้จัดการมรดก" ซึ่งการเป็นผู้จัดการมรดกได้นั้น ต้องมีคำสั่งแต่งตั้งโดยศาล ผ่านการยื่นร้องของผู้ที่มีคุณสมบัติ 

ล่าสุดเพจ สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่วิธียื่นขอจัดการมรดกออนไลน์ ระบบ e-Filing ได้ด้วยตนเอง 58 ศาล โดยการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกทางระบบ e-Filing สามารถทำได้ใน 2 กรณีคือ 

  1. กรณีทายาททุกคนยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก  
  2. กรณีมีข้อกำหนดในพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก

โดยเตรียมเอกสาร ประกอบการยื่นขอจัดการมรดก ในรูปแบบรูปภาพ หรือ PDF ที่สามารถเห็นหลักฐานได้อย่างชัดเจน 

เปิดขั้นตอน \"ยื่นจัดการมรดกออนไลน์\" ง่ายๆด้วยตัวเอง

เอกสารที่ต้องใช้

  • สำเนาบัตรประชาชน 
  • หนังสือยินยอมจากทายาทอื่นๆ
  • ทะเบียนบ้านผู้ร้องและผู้ตาย 
  • ใบมรณบัตรของผู้ตาย 
  • แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร
  • หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว-สกุลของผู้ตาย(ถ้ามี)
  • เอกสารพินัยกรรม(ถ้ามี)
  • ใบสำคัญการสมรสหรือแบบข้อมูลทะเบียนครอบครัวของผู้ตาย(ถ้ามี)
  • ใบมรณบัตรของผู้รับพินัยกรรมที่ไม่ใช่ทายาทเช่นใบมรณบัตรของบิดาผู้ตาย(ถ้ามี)
  • หนังสือมอบอำนาจ(ถ้ามี)
  • หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว-สกุลของผู้ร้อง(ถ้ามี)

โดยสามารถยื่นขอจัดการมรดกได้ทางระบบ e-Filing หากเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาในขณะถึงแก่ความตายในท้องที่เหล่านี้ คลิกลิงก์ : ยื่นขอจัดการมรดกผ่าน e-Filing

เปิดขั้นตอน \"ยื่นจัดการมรดกออนไลน์\" ง่ายๆด้วยตัวเอง เปิดขั้นตอน \"ยื่นจัดการมรดกออนไลน์\" ง่ายๆด้วยตัวเอง

โดยผู้จัดการมรดก ต้องเป็นบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก มีทำหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี และแบ่งปันทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดก และทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก

โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้

หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาท

ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก

1. บรรลุนิติภาวะ ( มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ )
2.ไม่เป็นคนวิกลจริต
3.ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

1.ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม)
2.ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก
3.พนักงานอัยการ

ที่มา สำนักงานกิจการยุติธรรม