ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง เงินเดือนข้าราชการ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2566 จากกลุ่มข้าราชการ/พนักงาน/ลูกจ้างของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และรายได้ทั่วประเทศ รวม 1,310 หน่วยตัวอย่างเกี่ยวกับเงินเดือนข้าราชการ
เมื่อถามถึงความเพียงพอของเงินเดือนที่ได้รับไม่รวมรายได้พิเศษอื่น ๆ ที่ถูกกฎหมายกับการใช้จ่ายและการมีเงินเก็บในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.81 ระบุว่า ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายและไม่มีเงินเก็บ, รองลงมา ร้อยละ 28.32 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายและมีเงินเก็บ และร้อยละ 26.87 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายแต่ไม่มีเงินเก็บ
ด้านความเพียงพอของเงินเดือนที่ได้รับเมื่อรวมรายได้พิเศษอื่น ๆ ที่ถูกกฎหมาย กับการใช้จ่ายและการมีเงินเก็บในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.76 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายและมีเงินเก็บ, รองลงมา ร้อยละ 24.12 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายแต่ไม่มีเงินเก็บ, ร้อยละ 22.90 ระบุว่า ไม่มีรายได้พิเศษอื่น ๆ (ที่ถูกกฎหมาย) และร้อยละ 21.22 ระบุว่า ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายและไม่มีเงินเก็บ
ส่วนการมีหนี้สินจากการกู้ยืม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.35 ระบุว่า มีหนี้สินกับสถาบันทางการเงิน, รองลงมา ร้อยละ 43.36 ระบุว่า มีหนี้สินกับสหกรณ์, ร้อยละ 25.57 ระบุว่า ไม่มีหนี้สินใด ๆ และร้อยละ 3.66 ระบุว่า มีหนี้สินนอกระบบ (รวมถึงการกู้ยืมเงินจากเพื่อน ญาติพี่น้อง)
สำหรับความคิดเห็นต่อแนวคิดของรัฐบาลเกี่ยวกับการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 71.30 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, รองลงมา ร้อยละ 11.83 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 8.32 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 7.71 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อนโยบายเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 57.86 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, รองลงมา ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 13.36 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 7.94 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.46 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ