กระแสร้อนเกี่ยวกับ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่วันนี้(18 เม.ย. 67) เวลาประมาณ 12.00 น."บิ๊กต่าย" พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยภายหลังพลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ เดินทางกลับ นายกรัฐมนตรีได้เรียก เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาหารือ คาดว่าเป็นการดูข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไรกับ "บิ๊กต่อ" พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ "บิ๊กโจ๊ก" พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ขณะนี้มาช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากในการลงโทษยังมีประเด็นถกเถียงว่า จะเป็นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี หรือรักษาการ ผบ.ตร.
นำมาสู่ข่าวสะพัดว่า "บิ๊กต่าย" พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้ลงนามคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน
การออกจากราชการจากคำสั่งในแต่ละประเภท ส่งผลต่อสิทธิ การใช้สิทธิ และเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใด ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
หมวด 8 การออกจากราชการ
มาตรา 133 ข้าราชการตำรวจออกจากราชการเมื่อ
(1) ตาย
(2) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(3) ได้รับอนุญาตให้ลาออก หรือการลาออกมีผลตามมาตรา 135
(4) ถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 75 มาตรา 131 มาตรา 134 มาตรา 136 มาตรา 137 - 139
(5) ถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก
วันออกจากราชการตาม (4) และ (5) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. การออกจากราชการของข้าราชการตำรวจเฉพาะผู้ที่ต้องรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
คำสั่งไล่ออกจากราชการ
ผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัด ได้ไล่สมาชิกออกจากราชการ เนื่องจากมีความผิดทางวินัยร้ายแรง โดยผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการ ยังคงได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ จากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
คำสั่งให้ออกจากราชการ
การถูกให้ออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัดได้ให้สมาชิกออกจากราชการด้วยเหตุว่า ข้าราชการผู้นั้นตาย ,พ้นจากราชการด้วยบำเหน็จบำนาญ ,ลาออกจากราชการ และได้รับอนุญาตให้ลาออก ,ถูกสั่งให้ออกจากราชการ ในกรณีใดกรณีหนึ่ง
คำสั่งปลดออกจากราชการ
ผู้ที่ถูกปลดออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัดได้ให้สมาชิกออกจากราชการ ซึ่งเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่ง หากพบว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
กรณีถูกให้ออก หรือปลดออก ผู้ที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว จะยังได้รับสิทธิและเงิน โดยมีเงื่อนไขแบ่งตามอายุการรับราชการ ดังนี้
กรณีเลือกเงินบำเหน็จ ผู้นั้นจะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ จาก กบข. และจะได้รับเงินบำเหน็จจากกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ บำเหน็จคิดจาก อายุราชการ คูณกับเงินเดือนสุดท้าย ส่วนบำนาญคิดจาก อายุราชการ คูณกับเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หารด้วย50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย นั่นคือ กรณีบำนาญ นับอายุราชการสูงสุดที่ 35 ปี