วุฒิสภา เห็นชอบ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม” บังคับใช้หลังประกาศราชกิจจาฯ 120 วัน

18 มิ.ย. 2567 | 08:04 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2567 | 08:54 น.

ข่าวดี มติที่ประชุมวุฒิสภา" ลงมติวาระที่ 3 เห็นชอบ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” หรือ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับใหม่ จำนวน 69 มาตรา จะมีผลใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปีนี้

วันนี้ (18 มิ.ย.67) ที่รัฐสภากำลังมีการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ โดยมีพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับใหม่ จำนวน 69 มาตรา

โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ประชุมพิจารณารายละเอียดร่างกฎหมายฉบับนี้มาแล้วถึง 12 ครั้ง อย่างละเอียดรอบคอบ และไม่มีการแก้ไขเนื้อหาหรือสงวนความเห็นจากกรรมาธิการท่านใด

แต่มีข้อสังเกตสำคัญว่าร่างกฎหมายมุ่งเน้นเรื่องการหมั้นและสมรส แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงเรื่องการสร้างครอบครัวและการเลี้ยงดูบุตรของคู่รักหลากหลายทางเพศ
 

วันนี้ที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณารายมาตราก่อน แล้วจะลงมติวาระที่ 3 เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ส่งผลให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เรียกได้ว่าเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย

 

มติที่ประชุมวุฒิสภา

โดยผลปรากฎว่า มติที่ประชุม  130ต่อ 4เสียง ให้ความ "เห็นชอบ" เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยมีผู้งดออกเสียง18เสียง  

กฎหมายฉบับดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปีนี้

วุฒิสภา เห็นชอบ \"กฎหมายสมรสเท่าเทียม” บังคับใช้หลังประกาศราชกิจจาฯ 120 วัน

 

 

ที่ประชุมพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา 

 

  • ชื่อร่างพระราชบัญญัติ ไม่มีการแก้ไข
  • คำปรารภ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๑ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๒ ไม่มีการแก้ไข (ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยกับคณะกรรมาธิการ โดยไม่มีการแก้ไข)
  • มาตรา ๓ ไม่มีการแก้ไข (ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยกับคณะกรรมาธิการ โดยไม่มีการแก้ไข)
  • มาตรา ๔ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๕ - ๑๒ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๑๓ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๑๔ - ๑๖ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๑๗ -๒๒ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๒๓ - ๖๖ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๖๗ ไม่มีการแก้ไข
  • มาตรา ๖๘- ๖๙ ไม่มีการแก้ไข

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พร้อมทั้งเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

บันทึกหลักการและเหตุผล 

สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับดังกล่าว ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) ระบุเหตุผลว่า โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพ ชีวิตของประชาชน

แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะ ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ บางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้น และสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้

รายละเอียด : ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....