รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เกี่ยวกับแผนที่พื้นทีที่มีโอกาสแผ่นดินถล่มของประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนที่ฉบับนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการลดผลกระทบจากพิบัติภัยแผ่นดินถล่มให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินถล่มที่เกิดขึ้นต่อไป
กระทรวง ทส. รายงานสาระสำคัญและข้อเท็จจริงว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาแผ่นดินถล่มอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ทั้งนี้จากเหตุการณ์และความสูญเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่าธรณีพิบัติภัยแผ่นดิน ถล่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณในการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาประชาชนจำนวนมาก เพื่อการบูรณาการป้องกันและลดผลกระทบธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น กรมทรัพยากรธรณี จึงได้จัดทำแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย มาตราส่วน 1 : 250,000 ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลและเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างร่องรอยแผ่นดินถล่มในอดีตกับปัจจัยควบคุมการเกิดแผ่นดินถล่มที่เป็นปัจจุบัน
สำหรับพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคใต้ โดยครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล และ 15,080 หมู่บ้าน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 135,000 ตารางกิโลเมตร (84.8 ล้านไร่) หรือประมาณ 25% ของพื้นที่ประเทศไทย
ทั้งนี้แผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย ได้จำแนกพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มดังนี้
ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มระดับชุมชน ตั้งแต่ ปี 2555 - ปัจจุบัน ในพื้นที่ 54 จังหวัด 310 อำเภอ 1,117 ตำบล และมีความจำเป็นต้องจัดทำให้ครอบคลุมพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มทั้งหมดของประเทศไทย
ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงและตั้งอยู่ใกล้กับแนวรอยเลื่อน ทางน้ำ และบริเวณที่ถนนตัดผ่านแผ่นดินถล่มจะเกิดเพิ่มขึ้นเมื่อฝนตกหนัก หรือมีการปรับเปลี่ยนความลาดชันของพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ของชุมชน และการพัฒนาของชุมชนที่ขยายตัวเข้าไปในพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นในการจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มฉบับนี้ ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางผังเมือง การออกแบบและก่อสร้างอาคาร การสร้างเส้นทางคมนาคม การขุดเจาะและวางระบบน้ำใต้ดิน รวมถึงการติดตั้งระบบป้องกัน เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย
นอกจากนี้ยังได้จัดทำบัญชีแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย 1,984 ตำบล เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ และใช้เผยแพร่ให้แก่ประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดความตระหนักและมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มต่อไป