นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบและแอดมินเพจ บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าว รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะหัวหน้าวิจัยโครงการศึกษาการรับรู้และปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทย เปิดเผยงานวิจัยชิ้นแรกของไทยที่พบว่าเด็กไทยที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะไปสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นนั้น
งานวิจัยดังกล่าวสวนทางกับ เอกสารของกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในอังกฤษ (ASH UK) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาที่ได้รับการศึกษาร่วมกับนักวิชาการ ผู้เชียวชาญด้านการศึกษา และผู้ออกกฎระเบียบจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษ
และได้รับการสนับสนุนโดย the Association of Director of Public Health, the faculty of Public Health, the Chartered Trading Standard Institute, the Royal Society of Public Health
และองค์กรควบคุมยาสูบในระดับภูมิภาคอีก 2 แห่ง ที่ระบุว่าไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้มากพอว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูไปสู่การสูบบุหรี่และการใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่อย่างมาก
ทั้งนี้ ในประเทศอังกฤษรัฐบาลสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (The National Health Service) ซึ่งเป็นระบบที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพของสาธารณชน ยังแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ที่ยังเลิกไม่ได้ใช้วิธีการอื่นแทนรวมไปถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
นอกจากนี้สถาบันวิจัยมะเร็งหรือมูลนิธิหัวใจบริติชก็ยังสนับสนุนแนวทางดังกล่าว ซึ่งประชาชนสามารถพบเห็นร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ในโรงพยาบาล และแม้จะพบว่ามีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรต่างๆ แต่รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ได้เลือกที่จะแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ตรงข้ามกับประเทศไทยที่กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านยาสูบที่เข้าไปนั่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเสียเองกับเผยแพร่ข้อมูลแต่ด้านลบของบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อทำให้คนไทยหวาดกลัวมากกว่าที่จะให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เป็นกลาง และรอบด้านกับประชาชน ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยโดยคนบางกลุ่มพยายามจะสร้างภาพ การระบาดที่รุนแรงของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เยาวชน ทั้งที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในการแบนและทำให้สิ่งเหล่านี้ลงไปอยู่ใต้ดินเอง
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ กล่าวว่า ผู้ใดที่เห็นต่างก็จะถูกใส่ร้ายป้ายสี มีการร้องเรียน ส.ส. เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส. เขต 1 จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบด้านและเชิญหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเช่น the Office of Health Improvement and Disparities (OHID) ของอังกฤษ
และหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องแต่กลับถูกร้องเรียนจากกลุ่มที่เห็นต่างโดยไม่เป็นธรรม ไม่ให้เกียรติกับ ส.ส. ที่ทำหน้าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ฟังความเห็นอย่างรอบด้าน โดยการใช้สื่อโซเชียลมีเดียโจมตี หมิ่นประมาทผู้เห็นต่าง
รวมทั้งมีการดำเนินคดีอาญากับสื่อบางเล่มซึ่งถือเป็นการคุกคามเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และพยายามปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง ตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
"ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายอนุทิน ชาญวีรกุล และคณะกรรมาธิการสาธารณสุข เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะพรรคภูมิใจไทยเองก็มีนโยบายที่ก้าวหน้าในหลายเรื่องน่าจะเปิดใจรับฟังความเห็นของประชาชนตามนโยบายพูดแล้วทำเช่นกัน"