เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายประชาชน กลุ่มกัญชาชน และ กลุ่มประชาชนเบียร์ จัดเสวนาหัวข้อ “จากกัญชาถึงบุหรี่ไฟฟ้าและคราฟเบียร์”เนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. เพื่อชี้ถึงปัญหาการแบนจนทำให้บุหรี่ไฟฟ้า เบียร์คราฟ เป็นสินค้าผิดกฎหมาย ขณะที่กัญชาซึ่งได้รับการควบคุมแล้ว กลับยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมาย
นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ เปิดเผยว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ หลายประเทศก็อนุญาตให้ใช้เพื่อเลิกบุหรี่ได้ แต่กลับเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทย โดยจุดประสงค์การเรียกร้องสิทธิไม่ได้ต้องการสนับสนุนให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสรี แต่เป็นการให้เกิดการควบคุมให้ถูกต้อง
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ กล่าวว่า ในประเด็นการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมายนั้น เคยยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 4 หมื่นรายชื่อ พร้อมแนบงานวิจัยจากต่างประเทศจำนวนมากขึ้นที่ยืนยันตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่
รวมทั้งแนวทางการควบคุมของบางประเทศ เช่น อังกฤษ ที่แนะนำให้ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเลิกบุหรี่ได้ และเราหวังให้งานวิจัยเหล่านี้ควรต้องถูกนำมาพิจารณา แต่ก็ยังมีกลุ่มรณรงค์เลิกบุหรี่ที่อคติกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ปรับแก้มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีความก้าวหน้าเสียที
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ กล่าวว่า ความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่พออัยการสั่งไม่ฟ้อง เคสการจับกุมก็น้อยลง แต่ก็อยากฝากไปถึงผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทุกคนว่าอย่ามีส่วนในการทำความผิดโดยการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่
และขอให้หาทางต่อสู้ให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนว่าผู้ใช้ผิดหรือไม่ เช่นรวมตัวกันไปยื่นเอกสารให้ ผบ.สตช. พิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการจังหวัดปทุมธานีเป็นแนวทางบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ เป็นต้น
"เชื่อว่าประชาชนต้องการความชัดเจนด้านกฎหมายจากภาครัฐ อย่างเช่นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า การโยนปัญหามาให้ประชาชนทั่วไปนั้นไม่ถูกต้อง อะไรผิดชัดก็ต้องจับ อะไรไม่ผิดก็ไม่ต้องจับ ขอวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหา ให้เกิดความชัดเจน อย่างที่เราเห็นว่าอัยการบางท่านมีคำสั่งไม่ฟ้อง แสดงว่าเค้ามีมุมมองว่าไม่ผิดอยู่ ทำไมกรณีอย่างนี้ถึงไม่ประกาศให้ทุนคนรู้ รัฐต้องทำให้เกิดความชัดเจน”
นายรัฐพล แสนรักษ์ ผู้ก่อตั้งเพจ กัญชาชน/Highland ตัวแทนจากกลุ่มกัญชาชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คนที่ครอบครองกัญชาถือว่ามีความผิด เพราะกัญชาเป็นสิ่งเสพติดผิดกฎหมาย แต่พอมีการศึกษาว่าสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ได้ ก็เริ่มมีกระแสการปลดล็อกกัญชา จนในที่สุดสามารถออกมาเป็นกฎหมายได้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้มาจากการขับเคลื่อนและแสดงพลังของผู้บริโภค แต่ยังเห็นว่ากฎหมายที่ออกมายังมีความไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเอง ก็ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องกฎหมายใหม่อย่างถูกต้อง ทำให้ยังมีประชาชนถูกจับกุมจากการปลูกต้นกัญชา
ทั้งนี้ การปลดล็อกกัญชาเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า การเอาของที่เราเห็นอยู่ว่ามันมีอยู่จริง มันเคยผิดกฎหมาย เคยอยู่ใต้ดิน เอาขึ้นมาบนดิน เอามาจัดการให้ดี มันทำให้เกิดประโยชน์ พอมีการปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว ก็ทำให้ประชาชนเริ่มมีความรู้และเริ่มเข้าใจว่ากัญชามีประโยชน์มากกว่าโทษ ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมของภาครัฐง่ายขึ้นด้วย เพราะสามารถให้ข้อมูลให้ความรู้กับประชาชนได้ ดีกว่าปล่อยให้แอบใช้กันแบบเมื่ออดีต
“กว่าจะมาถึงวันนี้ เราผลักดันกันเยอะมาก เราต้องการให้เปิดกว้างมากกว่านี้ มากกว่าที่กฎหมายปัจจุบันอนุญาต เราอยากเห็นการเปลี่ยนสถานะให้พืชกัญชาเป็นเหมือนพืชทั่วไป ปลูกได้ไม่ถูกจับ แต่ก็ต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม เช่น จำกัดสถานที่ขาย จำกัดสถานที่ซื้อ จำกัดอายุ จำนวนพกพา สถานที่ เดินสูบบนถนนก็ไม่ได้ ให้ใช้แค่พื้นที่ส่วนบุคคลเท่านั้น เป็นต้น แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ สังคมต้องมีความรู้และเข้าใจจริงๆ ว่ามันไม่ใช่สิ่งอันตราย ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แล้วเป็นสิ่งที่สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ จริงๆ ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า คราฟเบียร์หรือกัญชา ก็ควรถูกกฎหมายทั้งนั้นเพื่อให้ควบคุมดูแลได้”
นายศุภพงษ์ พรึงลำภู ตัวแทนกลุ่มประชาชนเบียร์ กล่าวว่า มีกติกาให้เกิดโรงเบียร์ได้อยู่ แต่กว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีโรงเบียร์ที่ทำได้ตามกฎหมายได้เพียง 7 บริษัท 11 โรงงานเท่านั้น ส่วนเรื่องการบริโภค ก็ยังมีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ที่ประชาชนหรือร้านอาหารยังถูกจับ เสียค่าปรับในอัตราที่สูง เพียงเพราะโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงโซเชียลมีเดีย เชื่อว่าไม่มีใครอยากทำอะไรที่ผิดกฎหมาย
เรื่องนี้สมาพันธ์ผู้ประกอบการและประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“นอกจากเรื่องร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตอนนี้ กลุ่มฯ ก็กำลังพยายามผลักดันให้แก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการผลิต หรือ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่กำลังรอทางสภาผู้แทนฯ พิจารณาวันที่ 8 มิถุนายนนี้ และก็มีกระบวนการเพื่อเตรียมการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ อยากให้ทางภาครัฐช่วยมองเห็นปัญหาและทางแก้ไขให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เพราะมีผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ผู้ออกกฎหมายไม่ควรเอาเยาวชนมาเป็นข้ออ้างเป็นตัวประกัน เพราะเมื่อถูกกฎหมายแล้ว มันจะมีวิธีควบคุมมากมายที่ดีกว่าในปัจจุบัน”