รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 33%
ใครที่หวังจะใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนทางสูบเพื่อความปลอดภัย ควรไตร่ตรองให้ดี
ด้วยความรู้การแพทย์จนถึงปัจจุบัน ปลอดโรคปลอดภัยคือการไม่สูบบุหรี่
ไม่ว่าจะบุหรี่แบบดั้งเดิม หรือบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนทำให้เสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากขึ้น
ล่าสุด Sharma A และทีมวิจัย เพิ่งทบทวนผลวิจัยทั่วโลกอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมาน
เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคหัวใจระดับสากล International Journal of Cardiology เมื่อ 7 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
สรุปสาระสำคัญคือ คนที่สูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" นั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 33%
แม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงบางวัน ก็เสี่ยงสูงกว่าคนไม่สูบถึง 31%
และหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน จะเสี่ยงสูงกว่าคนไม่สูบถึง 54%
ดังนั้นเราจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม
เพียงแค่เปรียบเทียบด้วย common sense ก็น่าจะทราบได้ว่า การสูดไอระเหยจากการเผาไหม้
ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เข้าไปในร่างกาย ย่อมก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ และทำลายอวัยวะภายในได้
และยิ่งหากสูดมาก สูดนาน สูดต่อเนื่อง ผลเสียต่อร่างกายย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในยุคที่สภาพแวดล้อมในสังคมมีสิ่งเสพติดรายรอบตัว ทั้งบุหรี่ เหล้า กัญชาหลากหลายรูปแบบ ประชาชน สื่อมวลชน
รวมถึงคุณครู ผู้ปกครอง และลูกหลานควรรู้เท่าทัน และช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่กันและกัน และเตือนให้หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดเหล่านั้น
ระดับนโยบายก็เช่นกัน ขอให้ไตร่ตรอง ทบทวนให้รอบคอบ หลีกเลี่ยงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้สิ่งเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะสุดท้ายแล้วจะเกิดปัญหาขว้างงูไม่พ้นคอ ได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลกระทบระยะยาวต่อทุกคนในสังคม