เริ่มแล้ว “รฟท.” เปิดซาวด์เสียงประชาชน ย้ายรถไฟเข้าสถานีกลางบางซื่อ

20 ต.ค. 2565 | 12:49 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2565 | 20:00 น.

“รฟท.” เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน เล็งย้ายรถไฟหัวลำโพงเข้าสถานีกลางบางซื่อ ถึง 28 ต.ค.นี้ เผยแผนจัดขบวนรถไฟเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท.ได้เปิดแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในการเปิดใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ โดยสำรวจความคิดเห็นประชาชน ประกอบการจัดทำนโยบายการบริหารจัดการเพื่อประชาชนผู้ใช้บริการ ทั้งผู้โดยสารขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ และผู้โดยสารขบวนรถโดยสารเชิงสังคม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบาย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งผู้โดยสารขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ และผู้โดยสารขบวนรถโดยสารเชิงสังคม ตั้งแต่วันนี้ ถึง 28 ต.ค. 2565 คลิกที่นี่

 

 

สำหรับแบบสอบถามประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป เป็นข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ แบบจำลองผู้ใช้บริการรถไฟทางไกล ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนที่ 2 การแสดงความเห็นต่อข้อเสนอแนะสำหรับการปรับการเดินรถไฟทางไกลในแต่ละเส้นทาง ตามที่ได้เตรียมการและทบทวนแผนการเดินรถ ประกอบไปด้วย ข้อเสนอแนะ สำหรับการปรับการเดินรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้า-ออกสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และการเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณีให้ผู้โดยสารใช้ตั๋วโดยสารทางไกลเดินร่วมรถไฟชานเมืองสายสีแดง เป็นต้น

 

 

 

ด้านแผนการให้บริการขบวนรถโดยสารทางไกลของการรถไฟฯ ตามโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และโครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) ที่ได้นำเสนอในแบบสำรวจฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

 

เริ่มแล้ว “รฟท.” เปิดซาวด์เสียงประชาชน ย้ายรถไฟเข้าสถานีกลางบางซื่อ

 

 ระยะที่ 1 ปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ ขบวนรถด่วน และขบวนรถเร็วทุกสาย (ยกเว้นสายตะวันออก) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ส่วนกลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ยังคงให้บริการต้นทางและปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เช่นเดิม

 

 

 

 ทั้งนี้จะปรับเส้นทางวิ่งขบวนสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ให้วิ่งบนทางยกระดับ ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีรังสิต โดยจะมีสถานีให้บริการ 3 สถานี ได้แก่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต และยกเลิกรับ-ส่งผู้โดยสารที่ที่หยุดรถนิคมรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน (สถานีระดับพื้นดิน) ที่หยุดรถทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (สถานีระดับพื้นดิน) ที่หยุดรถการเคหะ กม.19 และเปลี่ยนที่ตั้งสถานีดอนเมือง จากเดิมระดับพื้นดิน ไปยังสถานียกระดับ (ที่เดียวกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง)

ระยะที่ 2 ในอนาคต เมื่อมีการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีหัวหมาก และสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง กลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถด่วนพิเศษสายตะวันออกบางขบวน เป็นสถานีมักกะสัน พร้อมปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง กลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้บางขบวน เป็นสถานีชุมทางบางซื่อ (สถานีระดับพื้นดิน) สถานีดอนเมือง (สถานียกระดับ) และสถานีชุมทางตลิ่งชัน

 

 

นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทางขบวนรถ และรูปแบบการเดินรถจากเดิมอาจมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการทั้งที่เดินทางประจำและผู้ใช้บริการทั่วไป การรถไฟฯ ได้มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการที่รถไฟทางไกล (รถไฟระดับพื้นดิน) ยกเลิกการให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารที่หยุดรถนิคมรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน (สถานีระดับพื้นดิน) ที่หยุดรถทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (สถานีระดับพื้นดิน) ที่หยุดรถการเคหะ กม.19 มีระยะเวลา 1 ปี ได้แก่

 

 

 1. ผู้โดยสารในขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว ที่ซื้อตั๋วโดยสาร ระบุต้นทาง "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ไปยังปลายทางสถานีใดๆ ตลอดเส้นทางสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ไม่รวมตั๋วโดยสารระบุต้นทางหรือปลายทางสถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต) หากจะขึ้น-ลงที่สถานีบางเขน หรือสถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) สามารถนำตั๋วโดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีบางเขน หรือสถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

 

 

 ขณะเดียวกันผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วโดยสารจากสถานีต้นทางใดๆ ตลอดเส้นทางสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ไม่รวมตั๋วโดยสารระบุต้นทางหรือปลายทางสถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต) หากจะไปลงที่สถานีบางเขน หรือสถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) สามารถนำตั๋วโดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ไปสถานีบางเขน หรือสถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

2. สำหรับผู้ใช้บริการขบวนรถชานเมือง และขบวนรถธรรมดา สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ เฉพาะผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วรถไฟทางไกลเท่านั้น

 

 

 

หากเป็นผู้โดยสารขบวนรถธรรมดาและชานเมือง ขบวนรถเที่ยวเข้ากรุงเทพฯ จากสถานีต้นทางตลอดทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปลายทางสถานีดอนเมือง หรือสถานีชุมทางบางซื่อ และที่มีต้นทางสถานีดอนเมือง ไปปลายทางสถานีสามเสนตลอดทาง ถึงสถานีกรุงเทพ (รวมที่หยุดรถ) สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล ผ่านช่องทางพิเศษ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ไปลงที่สถานีหลักสี่ และสถานีบางเขน (ของสายสีแดง) หรือขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดง จากสถานีหลักสี่ และสถานีบางเขน (ของสายสีแดง) ไปลงที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) เพื่อเปลี่ยนใช้บริการรถไฟทางไกลได้ที่ สถานีชุมทางบางซื่อ (สถานีระดับพื้นดิน) ไปปลายทางสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ได้

 

 

ส่วนผู้โดยสารกับขบวนรถขาออกกรุงเทพ ที่มีตั๋วโดยสารต้นทางสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตลอดทางถึงสถานีสามเสน สถานีชุมทางบางซื่อ (รวมที่หยุดรถ) ไปปลายทางสถานีดอนเมือง และทุกสถานีตลอดทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกลผ่านช่องทางพิเศษเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อมาลงที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน (ของสายสีแดง) สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) และสถานีการเคหะได้

 

 


หากขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน (ของสายสีแดง) สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) และสถานีการเคหะ เพื่อลงที่สถานีดอนเมือง แล้วเปลี่ยนมาใช้บริการรถไฟทางไกลได้

 

 

ทั้งนี้รฟท. จะไม่จำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกลที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน (ของสายสีแดง) สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) และสถานีการเคหะ โดยสามารถซื้อตั๋วโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน D-Ticket หรือใช้ตั๋วโดยสารชนิดรายเดือนเท่านั้น ซึ่งผู้โดยสารสามารถเข้า-ออกเชื่อมต่อการเดินทางจากระบบรถไฟทางไกล และระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้ตามช่องทางและช่วงเวลาที่การรถไฟฯ กำหนดตามกำหนดเวลาของขบวนรถทางไกลที่การรถไฟฯ จะประกาศให้ทราบต่อไป โดยจะต้องผ่านการตรวจสอบตั๋วโดยสารจากเจ้าหน้าที่ทั้งขาเข้าและขาออกเท่านั้น