เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเมื่อรัฐบาลไทยเห็นชอบให้ "นาค" เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานของไทยซึ่งเป็นการประกาศในเชิงสัญลักษณ์เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง
คำว่า "นาค" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง งูใหญ่มีหงอน เป็นสัตว์ในนิยาย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Naga" ซึ่งตามความเชื่อในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปร่างลักษณะเป็นงูใหญ่ ที่มีหงอน ซึ่งสื่อถึงความยิ่งใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ มีวาสนา
สำหรับประเทศไทยมักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้บ่อย ทั้งในงานจิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม โดยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ได้แก่ วัด โบราณสถาน เป็นส่วนประกอบของสิ่งปลูกสร้างทางศาสนา และมีการเรียกชื่อของ นาค หรือ พญานาค เพื่อเป็นการสักการะบูชา เช่น นาคปรก, สะพานนาคราช, นาคสะดุ้ง, นาคลำยอง, นาคทันต์, นาคปัก และนาคเบือน เป็นต้น
รวมถึงประเพณีงานบุญในพระพุทธศาสนาของไทยได้นำสัญลักษณ์ที่เป็นรูปสัตว์หรือรูปตัวแทนของนาคมาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน เช่น ประเพณีบวชนาค ประเพณีปล่อยเรือไฟ ประเพณีบุญข้าวกรรมหรือบุญกองฮด และประเพณีขอฝน เป็นต้น
ความเชื่อการกำเนิดพญานาคตามคัมภีร์โบราณ
1.ตระกูลวิรูปักษ์
2.ตระกูลเอราปถ
3. ตระกูลฉัพพยาปุตตะ
4.ตระกูลกัณหาโคตมะ
ความเชื่อเรื่อง "นาค" ในแต่ละภูมิภาคของไทย
ภาคเหนือ
ตำนานเกี่ยวกับนาคนั้นมีปรากฏในตำนานสิงหนวัติซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือเอง "เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมายกทัพปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนคร ต้นวงศ์ของพญามังรายผู้ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนานั่นเอง"
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อว่า แม่น้ำโขง เกิดจากการไถตัวของพญานาค ในขณะที่ บั้งไฟพญานาค ซึ่งมีลักษณะเป็น ลูกไฟแดงอมชมพู ขนาดเท่าลูกหมากพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงขึ้นสู่ท้องฟ้าในวันออกพรรษา ที่ อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ที่ชาวบ้านเห็นเป็นประจำทุกปี กลายเป็นประเพณีสำคัญประจำภาคของชาวอีสานในปัจจุบัน ซึ่งตามตำนานเล่าว่า ในวันออกพรรษา พญานาคในแม่น้ำโขงต่างยินดี จึงจุดบั้งไฟถวายให้กับการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้า
ในภูมิภาคอื่น ๆ ก็มีความเชื่อเรื่องพญานาคเช่นเดียวกัน แต่อาจจะไม่แพร่หลายเท่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพื้นที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคจึงอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
ปัจจุบันประชาชนทั่วทุกภูมิภาคต่างนิยมเดินทางไปกราบไหว้สักการะพญานาคตามสถานที่ต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น คำชะโนด จ.อุดรธานี และ ถ้ำนาคา จ.บึงกาฬ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดที่สร้างเม็ดเงินและรายได้ให้กับคนในพื้นที่มูลค่านับร้อยล้านบาท