กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สรุปสถานการณ์ข่าวปลอมสัปดาห์ล่าสุด พบข่าวปลอมนโยบายรัฐบาล จำนวน 67 เรื่อง สอดคล้องกับกระแสการเมืองที่อยู่ในความสนใจอย่างมากของประชาชน ขณะที่ข่าวปลอมโควิด-19 มีเพียง 1 เรื่อง
นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2565 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อความที่เข้ามาจำนวน 5,213,861 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 238 ข้อความ แบ่งเป็นข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 222 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Line Official จำนวน 16 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 104 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศจำนวน 67 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 19 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 13 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 5 เรื่อง
สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 1 เรื่อง
นางสาวนพวรรณ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมด้านเศรษฐกิจ สำหรับข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจสูงสุด 10 อันดับระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน ดังนี้
อันดับ 1 เรื่อง ปตท. ให้ลงทุนหุ้นระดับโลก ด้วยเงิน 1,000 บาท และซื้อหุ้นปตท. ได้รับสิทธิ์จอง OR
อันดับที่ 2 เรื่อง กรุงไทยส่ง SMS ให้ประชาชนรับสิทธิ์ยื่นกู้เงินผ่านลิงก์
อันดับที่ 3 เรื่อง ขนส่งฯ เปิดเพจเฟซบุ๊ก DLT e-eairning รับทำใบขับขี่ทุกชนิด
อันดับที่ 4 เรื่อง สมุนไพรจมูกปลาหลดใช้รักษาโรคมะเร็ง
อันดับที่ 5 เรื่อง ออมสินปล่อยสินเชื่อ GSB ผ่านไลน์
อันดับที่ 6 เรื่อง ใช้เนยแท้ทาเคลือบแผลน้ำร้อนลวก ช่วยแก้ปวด ลดตุ่มพองใส
อันดับที่ 7 เรื่อง สารบอแรกซ์ใช้รักษาโรคมะเร็งได้
อันดับที่ 8 เรื่อง กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครแรงงานโรงงานไฟฟ้าที่เกาหลี
อันดับที่ 9 เรื่อง ปตท. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดลงทุนหุ้นระดับโลก ด้วยเงิน 1,000 บาท
อันดับที่ 10 เรื่อง ไปรษณีย์ไทยโทรแจ้งประชาชนว่ามีพัสดุตกค้าง
“ดีอีเอส พร้อมดำเนินการทุกวิธี เพื่อปกป้องประชาชนจากข่าวปลอมและมิจฉาชีพผ่านออนไลน์ โชเชียลมีเดีย โทรศัพท์ และการส่ง SMS หากท่านได้รับโทรศัพท์หรือได้รับข้อมูลที่ผิดปรกติ ผ่านโชเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ และ SMS
ท่านสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ทั้งนี้ดีอีเอส ได้มีการติดตามการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่องในทุกช่องทาง” นางสาว นพวรรณ กล่าว