กทม.คืนทางเท้าย่านสีลม ย้ายหาบเร่แผงลอยเข้าศูนย์อาหาร

21 ม.ค. 2566 | 07:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2566 | 07:27 น.

กทม. คืนทางเท้าย่านสีลม ย้ายหาบเร่-แผงลอยเข้าศูนย์อาหาร เพื่อความเรียบร้อย พร้อมชี้แจงคลิปเหตุการณ์กระทบกระทั่งกับผู้ค้าวันที่ 19-20 ม.ค.

นายจักรพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าความคืบหน้าการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่กทม. ขณะนี้มีร้านค้าหาบเร่แผงลอยทั่วกรุงเทพมหานครประมาณ 700 แห่ง ผู้ค้า 20,000 คน

กทม.คืนทางเท้าย่านสีลม ย้ายหาบเร่แผงลอยเข้าศูนย์อาหาร

โดยในส่วนของย่านถนนสีลม กทม.ได้เตรียมศูนย์อาหาร (Hawker Centres) ไว้เพื่อรองรับผู้ค้าย่านสีลมไว้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้กำหนดสถานที่ไว้ 4 จุด ได้แก่ บริเวณถนนคอนแวนต์ บริเวณตรงข้ามวัดแขก บริเวณซอยศาลาแดง รวมถึงพื้นที่เอกชนที่ตลาดกลางคืนพัฒน์พงษ์ ซึ่งมีค่าเช่าพื้นตามเอกชนกำหนด 150 บาทต่อวัน

 

 

โดยตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.เป็นต้นไปได้เริ่มเจรจาให้ผู้ค้าย้ายไปขายในจุดดังกล่าวที่ กทม.เตรียมไว้ พร้อมยกเลิกการค้าขายหาบเร่แผงลอยจุดเดิมตั้งแต่บริเวณช่วงถนนสีลมถึงถนนพระราม 4 เนื่องจาก กทม. ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ค้าบนทางเท้าจำนวนมากกรณีประชาชนไม่ได้รับความสะดวกบนทางเดินเท้า

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการเจรจากับผู้ค้าที่อยู่ในจุดห้ามขาย ส่วนใหญ่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งตนได้กำชับให้สำนักงานเขตบางรักลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ค้าหาบเร่อย่างต่อเนื่องถึงนโยบายยการจัดระเบียบดังกล่าว และตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. เป็นต้นมา ได้มีการขอความร่วมมืออีกครั้ง เพื่อจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในย่านสีลมให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดอย่างเคร่งครัดมากขึ้น

สำหรับผู้ค้าบริเวณถนนสีลม มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 69 ราย ได้แก่ ถนนสีลม (ขาเข้า) ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 4 ถึงซอยสีลม 1 รอบกลางคืน มีผู้ค้า 30 ราย ถนนสีลม (ขาออก) ตั้งแต่แยกนรารมย์ ถึงแยกศาลาแดง มีผู้ค้า 39 ราย ทำการค้าตั้งแต่เวลา 14.00 น. จำนวน 9 ราย ทำการค้าตั้งแต่เวลา 16.00 น. จำนวน 18 ราย ทำการค้าตั้งแต่เวลา 18.00 น. จำนวน 14 ราย ที่ผ่านมา กทม.ได้ตั้งจุดกวดขันเพื่อดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งให้ผู้ค้าทราบถึงการจัดระเบียบพื้นที่

พร้อมทั้งพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าบริเวณถนนสีลมทั้ง 2 ฝั่ง ให้เคลื่อนย้ายแผงค้าเข้าไปทำการค้าบริเวณถนนพัฒน์พงศ์ 1 โดยได้ประสานกับผู้ดูแลพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้รับความร่วมมือให้ใช้พื้นที่ตั้งวางแผงค้า และใน 2 เดือนแรกยินดีจัดเก็บค่าเช่าในราคาต่ำที่สุด โดยกำหนดย้ายผู้ค้าบริเวณถนนสีลมทั้ง 69 ราย เข้ามาทำการค้าบริเวณดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา

นายจักกพันธุ์ ชี้แจงถึงคลิปเหตุการณ์ในวันที่ 19-20 มกราคมที่ผ่านมา ที่มีผู้ค้าร้องไห้จะไม่ยอมย้ายสถานที่ขายและลงไปนอนกับพื้น พร้อมทั้งเทของลงพื้นทางเท้า ว่า ผู้ค้ารายนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีการด่าทอเจ้าหน้าที่ เราจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ถอยออกและไม่ต้องการให้มีการกระทบกระทั่ง และระหว่างที่ถอยออกมา มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินตามมาด่าทอเจ้าหน้าที่ตลอด และล้มลงไปนอนกับพื้นเองพร้อมอ้างว่าโดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายซึ่งตนเองขอยืนยันว่า ทางเราไม่ได้ไปทำร้ายผู้หญิงคนนั้น และได้ให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันแล้ว

อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ มีพนักงานกวาดขยะที่เห็นเหตุการณ์มายืนยันในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วยว่า ทางนายจักกพันธุ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกือบจะโดนทำร้าย ไม่ได้เป็นผู้ไปมีเรื่องกับกลุ่มผู้ค้าและผู้หญิงคนนี้แต่อย่างใด