ประเด็นที่น่าสนใจ หลังนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปราศรัยเตรียมแก้กฎหมาย ครอบครองยาเสพติด 1 เม็ดถือเป็นผู้เสพ มี 2 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้ค้า ซึ่งล่าสุดยังไม่มีการนำประเด็นดังกล่าวเสนอต่อ ครม. เพราะอยู่ระหว่างเตรียมประกาศ ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุว่า การแก้กฎกระทรวง ให้ผู้ครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ และผู้ครอบครองยาบ้า 2 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้ค้า จะทำให้เกิดผู้ต้องขังล้นคุกหรือไม่
นายสมศักดิ์ ระบุว่า ที่ผ่านมากรณีของคนที่มียาบ้า 5 เม็ด หากถูกตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ป.ป.ส. จับกุม จะมีการสอบถามว่าจะสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาหรือไม่ หากไม่สมัครใจก็ต้องถูกส่งฟ้องศาล และถูกคุมขัง แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นกรณีของคนที่มียาบ้าครอบครอง 1-2 เม็ด ก็จะทำให้คนเหล่านั้นถูกส่งเข้าคุมขังทั้งหมด และถูกส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลจะพิจารณาว่าเป็นผู้เสพ หรือเป็นผู้ค้า
เมื่อตรวจสอบสถิติจาก กรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 พบว่า เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังทั้งหมด 262,319 แบ่งเป็น นักโทษเด็ดขาด 210,776 คน คิดเป็น 80.351 % ส่วนผู้ต้องขังคดียาเสพติด 78.67 % เทียบผู้ต้องขังทั่วประเทศ หรือจำนวน 206,361 คน ขณะที่ข้อมูลเมื่อปี 2562 พบว่าคุกทั่วประเทศไทยสามารถรับนักโทษได้ประมาณ 200,000 คน
ข้อมูลจาก Worldpopulationreview รายงานอัตราการจำคุกแยกตามประเทศ ปี 2023 ระบุว่า 10 อันดับประเทศที่มีผู้ถูกคุมขังมากที่สุด ไทยอยู่ในอันดับที่ 6 จำนวน 309,282 คน ขณะที่ผู้ต้องขังล้นคุกเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่มีอัตราที่สูงมากเกิน 100% ส่วนไทย 445 %
นี่เป็นตัวอย่างประเทศที่มีผู้ถูกคุมขังมากที่สุด สหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำโลกในด้านจำนวนผู้ถูกคุมขังโดยมีนักโทษมากกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ (ตามข้อมูลที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2564 โดย World Prison Brief) จำนวนนี้เทียบเท่าประมาณ 25% ของประชากรเรือนจำทั้งหมดของโลก และนำไปสู่อัตราการจำคุก 629 คนต่อ 100,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ประชากรเรือนจำในแต่ละรัฐของสหรัฐฯ แตกต่างกันไป โดยมีอัตราสูงสุดในรัฐลุยเซียนาและโอคลาโฮมา
โดยรวมแล้ว อัตราการจำคุกในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรในคุกมีเพียง 200,000 คนในปี 1972 ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนทั้งหมดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อัตราปัจจุบันนั้นต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี
ในรายงานยังพูดถึงประเด็นการกักขังจำนวนมากอาจนำไปสู่ปัญหาด้านลอจิสติกส์หลายอย่าง รวมถึงความแออัดในเรือนจำ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและจิตใจของผู้ที่อยู่ในเรือนจำทั่วโลก หลายประเทศมีอัตราการเข้าอยู่ของเรือนจำที่เกิน 100% ของความจุของระบบเรือนจำ
นอกจากนี้ เรือนจำและนักโทษจำนวนมหาศาลทำให้งบประมาณของรัฐตึงเครียดอย่างมาก ค่าใช้จ่ายในเรือนจำรวมถึงการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ อาหาร โอกาสด้านสันทนาการและการศึกษา การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ค่าสาธารณูปโภคสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวก การรักษาพยาบาลสำหรับนักโทษ โครงการฝึกอบรมและฟื้นฟูผู้ต้องขัง เพื่อให้พวกเขามีโอกาสน้อยลงที่จะกลับไปถูกคุมขังในเรือนจำ โดยค่าใช้จ่ายในเรือนจำของรัฐแตกต่างกันไปอย่างมาก และอาจสูงถึง 69,355 ดอลลาร์ต่อผู้ต้องขังต่อปี หรือคิดเป็น 2,219,360 บาท (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้ต้องขังในนิวยอร์ก)