วันที่ 8 มี.ค.2566 ที่ห้องประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) การป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา สร้างความคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนของจังหวัดอุดรธานีแบบบูรณาการ
กิจกรรมนี้มีพลตำรวจตรีพิษณุ อุณหเสรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พันเอกธนาวีร์ วิชาชัย รองผู้อำนวนการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอุดรธานี( กอ.รมน.อุดรธานี) นายภิญโญ โฆสิต ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 4 ขอนแก่น ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดอุดรธานี รศ.ดร.คณิศรา ธัญญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยการศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จำนวน 21 หน่วยงานร่วมทำพิธี
นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ( พ.ศ.2561-2580) ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เน้นการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมของประเทศ ให้มีความมั่นคงปลอดภัย มีความพร้อม สามารถรับมือกับภัยคุกคามได้ทุกรูปแบบ ตลอดจนการปลุกจิตสำนึกด้านความมั่นคง ให้เกิดขึ้นในประชาชนทุกระดับ ควบคู่กับการบูรณาการการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เพื่อเป็นการสนองนโยบายดังกล่าว ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดอุดรธานี จึงจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) การป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาขึ้น เพื่อเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา และเป็นการสร้างเครือข่าย การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยมีหน่วยงานที่ร่วมลงนามจำนวน 21 หน่วยงาน
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่ารชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ เป็นการยกระดับการดำเนินงานของจังหวัดอุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ทั้งในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา รวมถึงเด็กและเยาวชนนอกสถานศึกษา ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแบบบูรณาการร่วมกัน สามารถตอบสนองต่อแนวคิด “สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด” อีกทั้งเกิดเครือข่ายในการทำงานกับทุกภาคส่วน
การดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ทั้ง 3 ด้าน คือ การป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา โดยต้องบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน องค์กร จังหวัด และอำเภอ ในฐานะศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยใช้กลไกลของระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และการบูรณการทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ให้เด็กและเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยการลดอุปสงค์ อุปทาน (Demand และ Supply) ให้ยาเสพติดหมดไปจากทุกพื้นที่ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับปัญหาของยาเสพติดในภาพรวม ทางรัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติ 20 ปี เป็นสาเหตุให้ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมถดถอย สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีแผนปฏิบัติงานร่วมกันในทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นปัญหาที่อ่อนไหวต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาต่าง ๆ เนื่องว่าปัญหาของยาเสพติดที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่าย จึงเป็นปัญหาที่ทุกส่วน ทุกหน่วยงาน ต้องมีการปฏิบัติงานร่วมกันในรูปแบบของการบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง นายวันชัยฯกล่าว
บันทึกในข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย
1. ให้ความร่วมมือในการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา หน่วยงาน และองค์กรในสังกัด โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ แผนการเรียนการสอน ให้มีเนื้อหาและแนวทางในการป้องกัน และเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในสังกัด ให้สามารถป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ได้กำหนดแนวทางวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามระเบียบ กฎหมาย คำสั่ง หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่าย ทั้งในและนอกสถานศึกษา เพื่อให้สามารถป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ให้เป็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และดำเนินการอื่น ๆ ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา
2. จัดทำแผนปฏิบัติการ แผนการเรียนการสอน ให้มีเนื้อหาและแนวทางในการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในสังกัด ให้สามารถป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด
3. สนับสนุนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย สถานการณ์ และพิษภัยของยาเสพติด สนับสนุนงบประมาณ บุคลากร และส่วนอื่น ๆ เมื่อหน่วยงานหรือสถานศึกษาได้ประสานขอความร่วมมือและดำเนินการอื่น ๆ
4. กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน โดยการจัดให้มีโครงการ 1 ตำรวจ 1 โรงเรียน โครงการ D.A.R.E (Drug Abuse Resistance Education) โครงการจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษาและดำเนินการอื่น ๆ ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติด ในสถานศึกษา
5. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอุดรธานี จะจัดทำคำสั่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ทั้งในและนอกบริเวณสถานศึกษา ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติด เมื่อได้รับแจ้งหรือร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการอื่น ๆ
6. ที่ทำการปกครองจังหวัดอุดรธานี ดำเนินการ บูรณาการ แผนงาน โครงการและเสริมสร้างระบบป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา การสนับสนุน ให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทุกอำเภอ จัดชุดปฏิบัติการป้องกันเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งในและนอกสถานศึกษาและดำเนินการอื่น ๆ
7. สำนักงานสารณสุขจังหวัดอุดรธานี จัดทำการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติด จัดระบบรักษาบำบัดยาเสพติดในสถานศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาในแต่ละแห่ง
8.สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี ส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จัดทำแผนงาน และสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติด
9. อบจ.อุดรธานี จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน การป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา โดยการบูรณาการ แผนงาน โครงการ และสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาเด็กและเยาวชนกลุ่มอื่นๆ และดำเนินการอื่นๆ ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา และ
10. ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ค้นหาคัดกรอง บำบัดรักษานักเรียนกลุ่มเสี่ยง และจัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้แก่นักเรียนกลุ่มเสี่ยง ด้านปัญหายาเสพติด โดยจัดกิจกรรมด้านการเฝ้าระวังการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การทำการบันทึก MOU ดังกล่าวได้จัดทำขึ้น เพื่อให้ทุกส่วน ทุกหน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานสถานศึกษา ที่ได้ลงนามในบันทึก MOU ดังกล่าว ต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์