11 วิธีรับมือ “พายุฤดูร้อน” อย่างไรให้ปลอดภัย

12 มี.ค. 2566 | 05:24 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2566 | 05:41 น.

กรมอุตุฯ ประกาศเตือนทั่วประเทศ เกิด “พายุฤดูร้อน” 12-14 มี.ค.นี้ มาดูวิธีรับมือ “พายุฤดูร้อน” อย่างไรให้ปลอดภัย

ไม่เพียงความร้อนระอุของอากาศในช่วงฤดูร้อน สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ "พายุฤดูร้อน"  เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม – เมษายน) หรือช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน เมื่อการหมุนเวียนอากาศแปรปรวนอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดลมพายุพัดแรงและฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า หรืออาจจะมีลูกเห็บตกลงมาด้วยในบางพื้นที่

กินพื้นที่ไม่กว้าง (ประมาณ 10-20 ตร.กม.) และจะตกเพียงระยะเวลาสั้นๆ (ประมาณ 2 ชม.) เท่านั้นก็จะหยุด เพื่อความปลอดเราต้องป้องกันให้ตรงจุด

กรมอุตุฯ เตือน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหาย ที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

เเละนี่คือ วิธีรับมือพายุฤดูร้อน เตรียมความพร้อมก่อนเกิดอันตราย

1.อาคารสูงควรติดตั้งสายล่อฟ้าป้องกันฟ้าผ่า  เพื่อลดอันตรายจากการฟ้าฝ่า

2.ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง

เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้า มักจะมีโลหะที่เป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า เสี่ยงทำให้เกิดอันตราย เสี่ยงต่อฟ้าฝ่าแล้ว ยังอาจทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้านั้น เสียหายได้ 

3.ติดตั้งสายดินที่อุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อลดอันตรายต่าง ๆ ได้แม้จะเป็นในยามปกติด้วย

4.ไม่ติดตั้งเสาอากาศวิทยุ-โทรทัศน์ใกล้สายไฟฟ้า

การติดตั้งที่ปลอดภัยจะต้องไม่อยู่ในจุดที่ใกล้กับสายไฟฟ้า เพราะมีโอกาสที่เกิดอันตรายและเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า 

5.ตรวจสอบความแข็งแรงของบ้าน โครงสร้าง ส่วนต่อเติม​

หากพบว่ามีส่วนใดชำรุด หรือไม่แข็งแรงเพียงพอ จะต้องรีบดำเนินการ 

6.สำรวจต้นไม้รอบบ้าน ตัดแต่งกิ่งไม้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการหักโคนลงมาทำอันตรายต่อตัวบ้าน หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคาร

7.จัดเก็บสิ่งของรอบบ้านที่อาจเสียหาย

8.ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เช่น กรมอุตุวิทยา เเละควรปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด 

9.จัดเตรียมอุปกรณ์หรือของจำเป็นไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

กรณีสุดวิสัยเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น อาหารแห่ง น้ำดื่ม ยารักษาโรคพื้นฐาน และยาประจำที่ต้องกินสำหรับคนมีโรคประจำตัว ไฟฉาย เครื่องให้ความอบอุ่นของร่างกาย และของจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต

10.ไม่ควรอยู๋ในที่แจ้ง 

กรณีที่ต้องอยู่กลางแจ้ง ให้รีบเข้าไปในอาคารหรือที่กำบังที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากลมแรงและฟ้าผ่า ไม่หลบพายุในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะบริเวณต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรือสิ่งปลูกสร้างไม่มั่นคงแข็งแรง 

11.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า

อยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นโลหะหรือสื่อนำไฟฟ้า อาทิ รางรถไฟ เพิงสังกะสี รั้วลวดหนาม ประตูโลหะ งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เเละไม่พกพาหรือสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ เงิน ทอง นาก ทองแดง และร่มที่มียอดเป็นโลหะ