“คีรี กาญจนพาสน์” BTS ปลุกโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ปักหมุดแลนด์มาร์กใหม่

12 พ.ค. 2566 | 08:22 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2566 | 08:45 น.

“คีรี กาญจนพาสน์” BTS ดันโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ลุยส่งมอบ อบจ.กาญจนบุรี ปักหมุดสร้างแลนด์มาร์กใหม่ หวังใช้เป็นสาธารณประโยชน์-พิพิธภัณฑ์เพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ นายกองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีส่งมอบ "โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี"  ณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี, คณะผู้บริหาร กลุ่มบริษัทบีทีเอสและ บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) อาทิ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา, นายคง ชิ เคือง,    

“คีรี กาญจนพาสน์” BTS ปลุกโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ปักหมุดแลนด์มาร์กใหม่           

นายชัยวัฒน์ อัศวินทรางกูร, นางสาวสรญา เสฐียรโกเศศ และ คณะผู้บริหารจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี อาทิ นายอรรถวิท รักจำรูญ, นายพิสิษฐ์ กาญจนภิญพงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี, นายจรันต์  ยิ่งภิญโญ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี, นายอนันท์ ดิษฐศิริ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน 
 

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือกลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้ดำเนินการเข้าซื้อโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี และต้องการที่จะมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ และพิพิธภัณฑ์เพื่อประชาชน รวมถึงเป็นอาคารอนุรักษ์เพื่อสังคมของจังหวัด   ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

 

  “คีรี กาญจนพาสน์” BTS ปลุกโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ปักหมุดแลนด์มาร์กใหม่

ด้านการดำเนินงานในครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรม จึงต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม อาคารโบราณสถานต่าง ๆ  ไว้เพื่อสืบสาน และส่งต่อเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติไทยไปยังคนรุ่นหลัง อีกทั้งก่อนหน้านี้ ได้ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการเข้าบูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถึง 3 แห่ง  ได้แก่ โครงการศุลกสถาน โรงภาษีร้อยชักสาม ซึ่งเป็นอาคารที่มีอายุกว่า 130 ปี โดยได้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณสถาน เพื่อเป็นโรงแรมระดับไม่ต่ำกว่า 5 ดาว ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่อยู่คู่กับชุมชน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน 
 

ขณะเดียวกันได้ใช้งบประมาณดังกล่าว เข้าลงทุนโรงแรม ยูเชียงใหม่  ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น 2552 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้ทำการคงโครงสร้าง อาคารจวนผู้ว่าการเชียงใหม่หลังเก่าไว้ภายในโรงแรมและทำการปรับปรุงเป็นเรสซิเดนซ์ เลานจ์ โดยคงไว้ซึ่งความงดงามของศิลปวัฒนธรรมชาวล้านนา    แต่เพิ่มการตกแต่งภายในที่ทันสมัย


    ทั้งนี้ยังได้ลงทุนซื้ออาคารสถาปัตยกรรม Sino-Portuguese “คฤหาสน์พระอร่ามสาครเขต”    อาคารโบราณสไตล์ ชิโน-โปรตุกีส อายุกว่า 100 ปี ย่านใจกลางเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต เพื่ออนุรักษ์อาคารโบราณสถานตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งปณิธานไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากการเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจในด้านต่าง ๆ ผ่านการดำเนินการในกลุ่มธุรกิจ Move  Mix และ Match แล้ว กลุ่มบริษัทบีทีเอสยังเล็งเห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมประเทศไทย อีกด้วย

“คีรี กาญจนพาสน์” BTS ปลุกโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ปักหมุดแลนด์มาร์กใหม่

นายคีรี กล่าวว่า ผมไม่ได้ผลักดันโครงการเหล่านี้เพื่อสร้างภาพ ผมไม่ได้ต้องการแบบนั้นตั้งแต่อายุ 60 ปี ก็เริ่มสนับสนุนเรื่องการกุศลหลายอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น การสร้างโรงเรียนสอนคน ตาบอดมกุฏคีรีวันเขาใหญ่  การสร้างโรงพยาบาลมกุฏคีรีวัน อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และการจัดตั้งมูลนิธิฟ้าสั่ง และศูนย์ไตเทียมฟ้าสั่ง

 

 “ผมรู้สึกว่าเราผ่านอะไรมาเยอะแล้ว จึงบอกตัวเองว่า ต่อจากนี้เราต้องทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนคืนสังคม แต่สไตล์ของผมไม่ชอบบริจาคเงินแล้วจบกัน อยากไปสร้างด้วยมือตัวเอง เพราะกลัวว่าจะไปไม่ถึงมือคนที่เราอยากให้ได้รับประโยชน์จริง ๆ เลยเลือกที่จะทำเองแล้ว ค่อยส่งมอบให้ โครงการเหล่านี้ใช้คำว่า คีรีและเพื่อน คือเพื่อน ๆ พอรู้ว่าเราทำก็อยากจะช่วยทำบุญทำกุศลด้วย ถ้าปล่อยตัวเองให้แก่จนอายุ 70 - 80 ปี คงไม่มีแรงทำอะไร เพื่อสังคมแล้ว จึงต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้” 

“คีรี กาญจนพาสน์” BTS ปลุกโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ปักหมุดแลนด์มาร์กใหม่
ที่สำคัญการจัดงานในครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่ง ในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจ Paper Mill Night Market ชิคแอนด์ชิลเที่ยวกาญจน์เอง ที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยการนำเสนอมุมมองที่แปลกใหม่ ทันสมัย ตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวยุคใหม่ ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดกาญจนบุรี

 

สำหรับโรงงานกระดาษไทยเป็นสถาปัตยกรรมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2481 โดยวิศวกร และนายช่างจากประเทศเยอรมนี และเป็นสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาท่ามกลางโบราณสถานกำแพงเมืองเก่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปีพ.ศ. 2475 คณะราษฎรต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรม จึงสร้างโรงงานกระดาษนี้ขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ต่อเนื่องจากที่สามเสนในกรุงเทพมหานคร แต่เป็นแห่งแรกที่มี การผลิตครบวงจร และใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ ขณะนั้น

 

นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปโบราณที่หาชมได้ยาก ที่ใครต่างขนานนามให้เป็น “มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย และเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมของกาญจนบุรี” เป็นแหล่งชุมชนที่มีเรื่องราว และอิทธิพลต่อสังคมในเมืองกาญจนบุรี ณ สมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันสภาพทุกอย่างของโรงงานยังคงเหมือนเดิม ทั้งตัวโครงสร้าง ปล่องควัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรผลิตกระดาษ  ซึ่งเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายของโลกที่ประเทศไทยอีกด้วย