"Pride month" ถูกนำมาตั้งชื่อให้กับเดือนมิถุนายน เพื่อเทศกาลเฉลิมฉลองในสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของมนุษย์ทุกคน มีธงสีรุ้ง หรือ ธงPride เป็นสัญลักษณ์ แต่กว่าที่โลกจะให้การยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)เช่นในปัจจุบันนั้น ก็ได้มีเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ เกิดขึ้นหลายต่อหลายเหตุการณ์
ในอดีตผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ(LGBTQ+) ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิต เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ(LGBTQ+) จึงถูกปฏิบัติอย่างกดขี่ข่มเหง ไม่สามารถเปิดเผยถึงเพศวิถีของตนเองได้
"สโตนวอลล์ อินน์" (Stonewall Inn) บาร์ลับๆ ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่เปิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวมตัว และพักผ่อนหย่อนใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ(LGBTQ) โดยสามารถเปิดเผยเพศวิถีของตนเองได้อย่างอิสระ บาร์แห่งนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย
ช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจได้เข้าตรวจค้นบาร์ดังกล่าว และเกิดเหตุชลมุนขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ที่แต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดในข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสมตามเพศ จุดพลิกผันที่นำไปสู่ความรุนแรง เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มนำคนในร้านออกไปด้านนอก และตำรวจตีศีรษะของลูกค้าผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งตัวเป็นผู้ชาย หลังเธอประท้วงว่ากุญแจมือแน่นเกินไป
การกระทำรุนแรงของตำรวจกลายเป็นชนวนเหตุให้คนที่เห็นเหตุการณ์เข้าขว้างปาสิ่งของตอบโต้ตำรวจ ทางเจ้าหน้าที่เองจึงได้เรียกกำลังเสริมมาอีกกว่า 500 นาย เพื่อเข้าควบคุมมวลชน และได้มีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มLGBTQ+ เหตุการณ์จึงบานปลายส่งผลให้ผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในสโตนวอลล์ มาร่วมขบวนก่อจลาจลและต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้เกิดเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ที่กินเวลานานถึง 6 วัน ก่อนเหตุการณ์จะยุติลง
การชุมนุมในครั้งนั้น ส่งผลให้กลุ่ม LGBTQ เริ่มเคลื่อนไหว แสดงจุดยืนกันอย่างจริงจัง โดยในปีต่อมาได้มีการจัดวันแห่งการปลดปล่อยที่ถนนคริสโตเฟอร์ (Christopher Street Liberation Day) อันเป็นที่ตั้งของร้านสโตนวอลล์อินน์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา และต่อยอดให้เกิดการออกมาเรียกร้องในสิทธิของกลุ่ม LGBTQ หลากหลายประเทศทั่วโลก ในอีก50 ปีให้หลังทางกรมตำรวจได้ออกมายอมรับว่า การกระทำของพวกเขาในวันนั้น คือ “ความผิดพลาด”
ค.ศ. 2000 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน (Gay & Lesbian Pride Month) และในอีก 9 ปีต่อมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBTQ+ โดยมีเอกลักษณ์เป็นขบวนพาเหรดสีรุ้ง หรือ ไพรด์พาเหรด
สำหรับในประเทศไทยได้จัดงาน Bangkok Pride ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2565 ภายใต้ชื่องาน " Bangkok Naruemit Pride 2022" ซึ่งในปี 2566 นี้ได้จัดงานภายใต้ชื่อ "Bangkok Pride 2023" โดยมีมีเป้าหมายใหญ่ในการขอลิขสิทธิ์ในการจัด World Pride ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2028
งาน "Bangkok Pride 2023" จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 เริ่มตั้งขบวนไพรด์พาเหรด เวลา 14.00 น. และเคลื่อนขบวนเวลา 16.00 น. โดยเริ่มจากแยกปทุมวันไปสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ (ถนนพระราม 1) ความยาว 1.5 กิโลเมตร
หัวขบวนจะนำโดยวงโยธวาทิตและ ขบวนธงไพรด์ ความยาว 144.8 เมตร (มาจากกฎหมายป.พ.พ.มาตรา 1448) ถือเป็น “ธงไพรด์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย” เย็บโดยคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ สามารถแยกชิ้นได้เพื่อส่งต่อไปยังคอมมูนิตี้อื่นๆ
เมื่อเดินขบวนเสร็จจะมีไฮไลต์อยู่ที่ Pride Stage ที่จะมีกิจกรรมมากมาย เช่น ถ้อยคำแถลงชุมชนเพศหลากหลาย, ถ้อยแถลงกรุงเทพมหานคร, การแสดงหมอลำความหลากหลายทางเพศ การแสดงจากชุมชน Drag รุ่นใหม่ และ มินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน LGBTQ+ ทั้งในประเทศไทยและจากต่างประเทศ และการเดินขบวนพาเหรดสุดสร้างสรรค์ 6 ขบวน พบ 6 ทูตนฤมิตรไพรด์ เป็นตัวแทนในการสื่อสารเสียงของชาวสีรุ้ง