บันไดเลื่อน คือ เครื่องจักรกลอันตรายจริงหรือ?

29 มิ.ย. 2566 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2566 | 09:57 น.

เกิดขึ้นอีกแล้ว อุบัติเหตุจากบันไดเลื่อน คราวนี้เกิดขึ้นที่สนามบินดอนเมือง ผู้โดยสารหญิงถึงขั้นขาขาด สร้างความไม่มั่นใจต่อผู้ใช้งานถึงมาตรฐานความปลอดภัย และมองบันไดเลื่อน ในฐานะ “เครื่องจักรกลอันตราย”

จากกรณีอุบัติเหตุที่ท่าอากาศยานดอนเมือง  เมื่อผู้โดยสารหญิงโดนทางเลื่อนดูดขาลงไป จนทำให้ขาขาด สร้าง "ความไม่มั่นใจ"ต่อผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการสนามบิน

"นี่ไม่ใช่ครั้งแรก" เพราะ ปี 2562 มีเหตุการณ์ผู้โดยสารที่รองเท้าติดอยู่กับทางเลื่อน จนไม่สามารถยกเท้าออกมาได้ จึงตัดสินใจถอดออก ก่อนรองเท้าถูกทางเลื่อนดูดไปด้านในมีสภาพไม่เหลือชิ้นดี  

คำถามถึง "มาตรฐานความปลอดภัยของสนามบิน" ในฐานะประตูสู่ประเทศไทย ที่นำผู้คนจากทั่วโลกมาท่องเที่ยว และใช้จ่ายในประเทศ

อุบัติเหตุทางเลื่อนที่สนามบินดอนเมือง "รุนแรงกว่าครั้งไหนๆ" ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุคนล้มตกบันไดเลื่อนนับสิบ 'บีทีเอส สุรศักดิ์' ปี 2565 และ บันไดเลื่อนหนีบเท้าเด็ก ที่ห้างสรรพสินค้าย่านรังสิต เมื่อปี 2560

ส่วนในต่างประเทศ เราก็จะได้ยินมีข่าวคนตกลงไปในอุโมงค์ใต้พื้นบันไดเลื่อนในจีน ถึงขั้นเสียชีวิตก็มี

สาเหตุของอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อน

มี 2 ส่วนหลัก  คือ 

1.เกิดจากตัวบุคคล

เช่น การพลัดตก  สะดุดล้ม รองเท้า ชายเสื้อกระโปรงติด ทำเหรียญสิ่งของตกลงไป ทำให้การทำงานขัดข้อง

2.เกิดจากระบบทำงาน 

เช่น เปลี่ยนทิศทางเลื่อนกะทันหัน  ช่องบันไดเลื่อนเกิดยุบตัวลง หรือบางขั้นบันไดหายไป

สิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้งานเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเท้าหรือขาไปติดในช่องบันไดเลื่อน ซึ่งหากบันไดเลื่อนยังทำงานอยู่ ก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง

บันไดเลื่อนทำงานอย่างไร

บันไดเลื่อน และทางลาดที่นิยมมใช้กับรถเข็นเป็นเครื่องจักรกลที่ไม่มีความซับซ้อน มีอุปกรณ์หลักคือ โครงบันได มอเตอร์ และชุดทดรอบ จาน โซ่ เฟืองด้านใน ขั้นบันไดเลื่อน ราวจับ ตู้ไฟฟ้าควบคุม และอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในถึง 15 รายการ

ที่มา : เว็บไซต์ www.excellentlift.co.th

การทำงาน คือ บันไดหรือช่องแต่ละขั้นจะมีล้อหมุนสองชุดที่ปลายขั้นบันได โดยล้อทั้งคู่จะเคลื่อนที่ไปตามรางบังคับเพื่อให้ขั้นบันไดสามารถเลื่อนไปบนทางวิ่ง

ทุกขั้นบันไดบันไดจึงมีลักษณะเป็นซี่และร่อง เพื่อให้บันไดทุกขั้นขบกันอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่อันตรายที่สุด คือ "หัวฟันเฟือง" ที่ใช้ขับเคลื่อนขั้นบันได หากแผ่นปิดด้านบนไม่ดี คนมาเหยียบอาจตกลงไปด้านล่างได้

การหยุดทำงานของบันไดเลื่อน

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยทั่วไปผู้ใช้งานสามารถกด “ปุ่มหยุดฉุกเฉิน”ได้  แต่ระบบจะหยุดการทำงานอัตโนมัติ หากบันไดเลื่อนชำรุด หรือระบบขัดข้องดังนี้

-บันไดเลื่อนเกิดการขัดตัว

-ไฟฟ้าเกินพิกัด

-ความเร็วเกินพิกัด

-ไฟฟ้าผิดปกติ

-โซ่ขับขาด

-ราวมือจับขาด

-ขั้นบันไดหลุด

-ขั้นบันไดขัดกับแผ่น

-ขั้นบันไดหาย

-โซ่ขับบันไดขาด 

-ความเร็วไม่สัมพันธ์ 

ผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า บันไดเลื่อนเป็นอุปกรณ์ที่ "ปลอดภัยมาก"  เพราะมีความเร็วแค่ 1.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น  แต่อุบัติเหตุมักเกิดจากการบกพร่องของระบบทำงาน ผู้ประกอบการจึงต้องหมั่นต้องตรวจเช็ค อย่างสม่ำเสมอ 

ข้อควรระวังสำหรับผู้ใช้บันไดเลื่อน

1.หากถือสิ่งพะรุงพะรัง ควรจัดการโดยถือไว้มือเดียว ทางเดียว อีกมือควรจับราวบันได

2.ไม่ควรวิ่งขึ้นบันไดเลื่อน 

3.เก็บปลายกางเกง กระโปรง และเชือกรองเท้าให้เรียบร้อย เพื่อลดโอกาสไปติดในช่องขั้นบันได

4.ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ เดินขึ้นบันไดเลื่อนเอง

5.ไม่ควรนั่ง หรือยืนพิงราวบันได

6.ไม่วางเท้าบนเส้นเหลืองเพราะเป็นตำแหน่งของชั้นบันไดเลื่อนที่แยกออกจากกัน

7.มีสติพร้อมที่จะก้าวลงบันไดอยู่เสมอ 

8. หากเกิดอุบัติเหตุให้กดปุ่มอี-สต็อป สีแดง ซึ่งอยู่ตรงบริเวณต้นและปลายบันไดเลื่อนให้ไวที่สุด

9.ห้ามก้าวขึ้นบันไดเลื่อนถ้าพบเห็นสิ่งผิดปกติ