“ธรรมนัส” ตั้ง 4 คณะทำงาน เดินหน้าปุ๋ยคนละครึ่ง ดึง 23 ห้องแล็บตรวจคุณภาพ

30 มิ.ย. 2567 | 05:08 น.

“ธรรมนัส” เซ็นแต่งตั้ง 4 คณะทำงานขับเคลื่อน ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง มูลค่าโครงการกว่า 5.6 หมื่นล้าน มั่นใจโปร่งใสทุกขั้นตอน พร้อมเปิดตัว 23 ห้องแล็บ ให้โรงงานส่งปุ๋ย-ชีวภัณฑ์ 16 สูตรตรวจก่อนเข้าร่วม ยัน 15 ก.ค. ศูนย์ข้าวชุมชนฯ แนะ “ปุ๋ยเครดิต” แก้ปัญหาชาวนาไม่มีเงินสมทบ

ปุ๋ยรวมถึงยาปราบศัตรูพืช และวัชพืชเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 17.5% ของต้นทุนการผลิตของเกษตรกร รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตข้าว เพื่อมุ่งสู่เกษตรแม่นยำตามนโยบายรัฐบาล โดยมีโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านการมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิตของเกษตรกร โดย “โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว

 

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว และในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดราคาควบคุมปุ๋ยและชีวภัณฑ์ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่งกรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 29,980.1695 ล้านบาท (เบิกจ่ายเท่าที่จ่ายจริง) ให้กับเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือนโดยรัฐบาลสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และชีวภัณฑ์ ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง จำนวน 16 สูตรปุ๋ยเคมี และรวมมูลค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ไม่เกิน 20,000 บาท (รวมมูลค่าโครงการ 56,700 ล้านบาท โดยเกษตรกรสมทบอีกครึ่งหนึ่ง)

 

ทั้งนี้หลัง ครม.มีมติเห็นชอบโครงการแล้ว เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นไปตามคู่มือการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2567/68 นอกจากนี้ลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ด้วยเช่นกัน โดยวิธีเข้าร่วมโครงการเกษตรกรต้องใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันของ ธ.ก.ส. จากนั้นระบุปุ๋ยสูตรที่เข้าร่วมโครงการฯ และชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ครึ่งหนึ่งผ่านแอปพลิเคชัน คาดเรื่องจะแล้วเสร็จ และคิกออฟโครงการได้ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

 

“ธรรมนัส” ตั้ง 4 คณะทำงาน เดินหน้าปุ๋ยคนละครึ่ง ดึง 23 ห้องแล็บตรวจคุณภาพ

ขณะเดียวกันล่าสุด ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินของโครงการฯ

ประชุม คณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวระดับประเทศ

2.คณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวระดับประเทศ มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ และคณะทำงานระดับอธิบดีกรมต่างๆ รวมถึงประธานศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่อำนวยการบริหารและแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานนโยบายให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

3.คณะกรรมการกำหนดราคาควบคุมปุ๋ยและชีวภัณฑ์โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีอธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานกรรมการ ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ พร้อมกับ 2 สมาคมชาวนาข้าวไทย และสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่สืบค้น ศึกษา วิเคราะห์ราคาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ และ 4. คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวระดับจังหวัด แต่งตั้งเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นประธานกรรมการเพื่อสุ่มตรวจปริมาณการส่งมอบปุ๋ยและรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคเพื่อไม่ให้เกิดกรณีร้องเรียน

“ธรรมนัส” ตั้ง 4 คณะทำงาน เดินหน้าปุ๋ยคนละครึ่ง ดึง 23 ห้องแล็บตรวจคุณภาพ

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า สำหรับโรงงานปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องส่งสินค้าให้กับห้องปฏิบัติการตามประกาศกรมวิชาการเกษตร 23 แห่งเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ดังนี้ 1.ห้องปฏิบัติการ กรมวิชาการเกษตร 10 แห่ง 2.บริษัท ไอ ซีพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บจก.) บจก.เอสจีเอส (ประเทศไทย) 3.บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด 3 สาขา (กทม.,ขอนแก่น,อยุธยาฯ) บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี 2 สาขา (อยุธยาฯและสมุทรปราการ) 4.บจก.เทอราโก เฟอร์ติไลเซอร์ 5.บจก.เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส์ 6.บมจ.ศูนย์ห้องปฎิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรและเอเชีย 7.บจก.แนส อโกร 8.บจก.เจียไต๋ และ บจก.เวิลด์ เฟอท

 

 

แอป ธ.ก.ส. ซื้อปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง

 

“ในวันที่ 3 กรกฎาคม จะมีการประชุมชี้แจงโครงการต่อผู้ประกอบกิจกรรมปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ภายใต้ 16 สูตรปุ๋ยโดยใช้ยี่ห้อของแบรนด์นั้น ที่สำคัญปุ๋ยสูตรเดียวกันจะต้องขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ ไม่อยากให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ ถ้าบริษัทใดรับเงื่อนไขตรงนี้ได้ก็จะเปิดโอกาสให้เข้ามาจำหน่ายผ่านโครงการฯ โดยให้มาสมัครได้ในวันที่ 4-5 กรกฎาคมนี้ ซึ่งทุกขั้นตอนยืนยันทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยจะจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น”

นายภาคิณ มุกสิสุวรรณ

ด้านนายภาคิณ มุกสิสุวรรณ นายกสมาคมศูนย์ข้าวชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจ ชาวนาจำนวนมากอาจติดปัญหาไม่มีเงินจ่ายในโครงการนี้เพราะต้องมีเงินในธนาคารก่อน ดังนั้นเสนอรัฐบาลให้สถาบันเกษตรกรปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยให้เกษตรกร หรือให้สหกรณ์ฯนำเงินมาซื้อปุ๋ยให้เกษตรกรก่อน เพื่อนำปุ๋ยออกมา โดยให้เครดิตสหกรณ์ใช้สิทธิ์เกษตรกรในการซื้อปุ๋ยแทนเกษตรที่ไม่มีเงิน โดยวิธีนี้คาดจะช่วยทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท