ชะตากรรม "พลายประตูผา" ? ทูตสันถวไมตรีช้างไทยในศรีลังกา

03 ก.ค. 2566 | 09:20 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2566 | 09:31 น.

คนไทยสุดห่วง "พลายประตูผา" ชะตากรรมเป็นอย่างไร ? หลังถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีในศรีลังกา เมื่อปี 2522 มีอายุเยอะกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์

คนไทยต้อนรับ “พลายศักดิ์สุรินทร์" 1 ใน 3 ช้างทูตสันถวไมตรี ที่รัฐบาลไทยส่งมอบให้รัฐบาลศรีลังกาตั้งแต่ปี 2544 กลับสู่มาตุภูมิประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา เพื่อทำการรักษาอาการเจ็บป่วย เพราะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่า องค์การพัฒนาเอกชนเพื่อการคุ้มครองสิทธิสัตว์ในศรีลังกา (Rally for Animal Rights & Environmnet (RARE) ที่กังวลต่อสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ จากการดูแลที่ไม่เหมาะสม และจำเป็นต่อการเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

โดยเมื่อคืนเป็นคืนแรกที่ พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้นอนที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ด้วยอารมณ์ดี สงบนิ่งปกติ  และจะมีการเฝ้าระวังและสังเกตอาการ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน

 

 

สำหรับช้างไทยที่ส่งไปศรีลังกา ก่อนปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 1 เชือกไปประเทศศรีลังกา คือ พลายประตูผา ต่อมาปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 2 เชือกไปประเทศศรีลังกา คือ พลายศักดิ์สุรินทร์ และ พลายศรีณรงค์ 

พลายศรีณรงค์ ก่อนหน้านี้ "คุณกัญจนา ศิลปอาชา" ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ เดินทางไปร่วมประเมินสุขภาพและความเป็นอยู่ของพลายศรีณรงค์ (Kandula) ณ Ali wadiya - elephants park ซึ่งตั้งอยู่ข้างวัด Kiri Vehera เมือง Katagarama ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร จากกรุงโคลัมโบ

ยืนยันว่า พลายศรีณรงค์ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ถูกเลี้ยงอยู่ในโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ลักษณะงดงาม สุภาพเรียบร้อย มีความสุข เข้ากับควาญช้างที่ดูแลมากว่า 6 ปี 

พลายศรีณรงค์ 

 

 

แต่สำหรับที่คนไทยเป็นห่วงอยู่ตอนนี้ คือ "พลายประตูผา" ช้างไทยมีอายุประมาณ 45 ปีที่ทางการไทยส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรี ตั้งแต่ช่วง ปี 2522 

"ยังไม่ทราบว่าพลายประตูผา ท่านเจ้าอาวาสเอาไปไว้ที่ไหนเเต่ได้ฝากท่านทูตว่าให้ช่วยตามไปเยี่ยมพลายประตูผา เเละส่งข่าวมาหน่อย เพราะพลายประตูผาจะอายุเยอะกว่าทั้ง 2 เชือก เเต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า พลายประตูผาน่าจะอยู่ในสภาพที่ดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์" คุณกัญจนา ศิลปอาชา กล่าวในคลิปวิดีโอที่เผยเเพร่ผ่านช่องทาง เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

เมื่อตรวจสอบไปที่ เฟซบุ๊คของ อาจารย์ ดร.ชญาน์นันท์ อัศวธรรมานนท์ อาจารย์ประจำสาขาพระพุทธศาสนา-วิทยาลัยสงฆ์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก Chayanan Assawadhammanond ระบุว่า เชือกที่ควรห่วงใยและควรได้เยี่ยมคือ พลายประตูผา เขาไม่ได้ดูดีและแข็งแรงแม้เพียงครึ่งของพลายศรีณรงค์​ เเละควรได้รับการดูแลที่ดีกว่าที่เป็นอยู่จำเป็นอย่างยิ่ง พลายประตูผาไม่มีโอกาสได้พบคณะบุคคลสำคัญจากประเทศไทย

 

ไทยเคยส่งช้าง 20 เชือกเป็นทูตสันถวไมตรีใน 5 ประเทศ

ก่อนปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 1 เชือกไปประเทศศรีลังกา (พลายประตูผา)

ปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 2 เชือกไปประเทศศรีลังกา (พลายศักดิ์สุรินทร์ และ พลายศรีณรงค์)

ปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 3 เชือกไปประเทศเดนมาร์ก

ปี 2545 กรมป่าไม้ ส่งออกช้าง 2 เชือกไปยังประเทศญี่ปุ่น

ปี 2547 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งช้าง 2 เชือกไปประเทศสวีเดน

ปี 2548 จังหวัดสุรินทร์ ส่งออกช้าง 2 เชือกไปประเทศญี่ปุ่น (พลายอาทิตย์ และ พังอุทัย)

ปี 2559 องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งออกช้าง 8 เชือกไปประเทศออสเตรเลีย (พลายกุ้ง พังทองดี พังน้ำอ้อย พังดอกคูณ พังพรทิพย์ พังผักบุ้ง พังแตงโม ส่วนอีกเชือก ไม่ระบุชื่อ)