ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และเครือข่ายสลัมสี่กาด ประมาณ 60-70 คน ได้เดินทางมาเรียกร้องยื่นหนังสือคัดค้านการตัดสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผู้มีฐานะร่ำรวย ต่อปลัดกระทรวงการคลัง จากการประกาศปรับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.66 หลังจากนั้นจะเดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทยต่อร้องเรียนต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการแถลงการณ์ประชาชนต่อการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า ในห้วงยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี รัฐบาลทหารยังคงรักษาการณ์ในช่วงดูกรุ่นของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กระทรวงมหาดไทยอาศัยจังหวะฝุ่นตลบนี้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเพิ่มคุณสมบัติ การเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพเข้ามาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการรับสวัสดิการเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุทั้งที่กว่าทศวรรษ สวัสดิการรายเดือนของผู้สูงวัยถูกปรับให้ก้าวหน้าขึ้น เปลี่ยนจากการสงเคราะห์คนยากไร้มาให้สิทธิอย่างถ้วนทั่วทุกคน ขอเพียงให้มีอายุ 60 ปี และไม่ได้รับสวัสดิการ หรือบำนาญอื่นใดจากรัฐในลักษณะเดียวกัน
แต่จากการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ไม่เคยเชื่อมั่นในระบบสวัสดิการถ้วนหน้า กลับลิดรอน ลดทอนด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้พิสูจน์ความยากจนเสมอมา แต่ทว่าขี้ขลาด ไม่เคยแสดงความองอาจ และความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศนี้ให้อยู่ดีกินดีเลยสักครั้ง
"ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐควรต้องออกโรงมาปกป้องดูแลทรัพยากรมนุษย์ ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศมาชั่วนาตาปี ด้วยการเพิ่มสิทธิสวัสดิการยกระดับคุณภาพชีวิต ในฐานะพลเมือง ทรัพยากรบุค คลของประเทศ ในนามของพลเมือง ที่จะได้รับผลกระทบจากการออกระเบียบของทั้งกระทรวงมหาดไทย และหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ "
โดยขอเรียกร้องให้
1. กระทรวงมหาดไทย ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้า โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำช้อนไว้แล้ว
2. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ให้ถูกลิดรอนต่ำลงไปกว่าที่เดยเป็น ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566
3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี
4. กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ของตัวเองในการศึกษาตัดงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้มาเติมเต็มการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลากลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น
5.รัฐบาลใหม่ ต้องผลักตันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน