"กระทรวงพม."ชี้สังคมยุคใหม่ ทุกคนเสมอภาพ ยัน“สมรสเท่าเทียม”เกิดขึ้นแน่

25 ส.ค. 2566 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2566 | 09:12 น.

"แรมรุ้ง" อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพม. ยันสังคุมยุคใหม่ ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน เชื่อสมรสเท่าเทียมจะได้รับการรับรองในเร็วๆนี้ หลังรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 เครือเนชั่น และโพสต์ทูเดย์ จัดงานสัมมนา “ Equity for All เพราะทุกคนเท่ากัน” ณ โรงภาพยนตร์ที่ 6 ชั้น 6 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ โดยนางสาวแรมรุ้ง วรวัธ  อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ความหลากหลายและเท่าเทียมในสังคมยุคใหม่" 

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า กระทรวงพม. ให้ความสำคัญและเคารพในคุณค่าศักดิ์ศรีแห่งความมนุษย์ตามหลักมนุษชน เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเชื้อชาติอะไร สีผิวแบบไหน เพศอะไร ใช้ภาษาอะไร นับถือศาสนาอะไร ความเชื่อทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน

รวมถึงสถานภาพอื่นๆที่ติดตัวมา ไม่ว่าเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง กลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้ที่มีความหลากหลายสถานะ ที่อยู่ในประเทศไทยและในโลกนี้ ท่ามกลางสังคมปัจจุบัน ที่มีทั้งความหลากหลาย มีความเคลื่อนไหว  มีความเห็นที่แตกต่างกัน

ผลักดันเสมอภาพทุกมิติ

อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพื่อที่จะผลักดันให้บุคคลนั้นเต็มไปด้วยความเสมอภาพในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์ของกระทรวงพม. นั่นคือประชาชนทุกคน จะต้องเข้าถึงโอกาสการคุ้มครองทางสังคมและมีความมั่นคงในชีวิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ความมุ่งมั่นที่จะทำให้สังคมไทยตระหนักถึงความเท่าเทียมของบุคคลทุกเพศ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย หรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเรื่องการศึกษา สุขภาพ การประกอบอาชีพ เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ทั้งหลายทั้งปวงต้องอยู่ภายใต้ความเสมอภาคกัน

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ  อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

จากรายงานการศึกษาและประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนของ SDG (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ของแต่ละประเทศ ที่นำมาพร้อมกับการจัดลำดับ SDG Index 2023 พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 44 จากทั้งหมด 163 ประเทศ เมื่อเทียบกับในระดับภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 3 รอลงมาจาก ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้  และประเทศไทยเป็นลำดับที่ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรั้งอันดับ 1ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมาตั้งแต่ปี 256 จนถึงปัจจุบัน
 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพม.ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามพันธะกรณีระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างจริงจัง  ซึ่งการขับเคลื่อนเราทั้งในระดับสากล และระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมบทบาทของสตรีและการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women (CEDAW)

และการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558  การขับเคลื่อนภารกิจเพื่อคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และส่งเสริมสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างต่อเนื่องนั้น

เร่งกม.สมรสเท่าเทียม

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558  มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ เราป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ  มีการกำหนดนิยามของการเลือกปฏิบัติหมายถึงว่า เป็นการกระทำหรือไม่กระทำที่เราไปแบ่งแยก กีดกันตัดสิทธิในทางเพศ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะว่าบุคคลนั้นเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศ 

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า ประเทศไทยของเรามีการรวบรวมกฎหมายที่มีเนื้อหา ที่เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมถึงขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย ต้องศึกษาและปรับปรุงกฎหมายต่อไป

“การจัดทำกฎหมายเพื่อรับรองเพศ เพราะการที่เราไม่มีการเปิดกว้าง ให้ใช้คำนำหน้านาม ในเอกสารราชการที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ เป็นการกระทบต่อชีวิตต่อกลุ่ม  LGBTQ+  อย่างมาก รวมถึงปัญหาการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน การสมรส การรับรองเพศสภาพ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพม.กำลังรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องซึ่งมั่นใจว่าต้องได้รับรองโดยเร็ว”

นอกจากนั้น ยังมีการประกาศเจตนารมณ์ เรื่องการส่งเสริมความเสมอภาพและขจัดความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศร่วมกับกว่า 63 หน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงพรรคการเมืองด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ร่วมแสดงจุดยืนและเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมแห่งการเท่าเทียมระหว่างเพศ ยกตัวอย่าง การแต่งกายตามอัตลักษณ์ของเพศสภาพ

ให้อิสระการแต่งกาย

กระทรวง พม.เป็นกระทรวงที่ผู้บริหารมีนโยบายชัดเจนว่า ถ้าเราเลือกแล้วว่าจะเป็นเพศใดให้ข้าราชการและบุคลากรทุกคน สามารถแต่งกายได้ตามเพศที่เราเลือก ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวตนของบุคคลนั้นๆ และถ้าเราได้แสดงออกถึงเพศที่เราเลือกเราจะมีความสุข

และมีประสิทธิภาพในการทำงาน และเป็นการจัดพื้นที่ที่เหมาะสมและเอื้อประโยชน์ต่ออัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละบุคคล ไม่ว่าการจัดห้องน้ำที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และห้องน้ำแห่งความเสมอภาคและจัดห้องน้ำที่แม่ ลูกอ่อนสามารถให้นมลูกได้ด้วย

รวมทั้งการประกาศรับสมัครงานที่ต้องไม่กำหนดว่าจะรับเฉพาะบุคคลที่มีอัตลักษณ์ตรงกับเพศ เช่น งานแบบนี้รับเฉพาะผู้หญิง หรืองานอีกแบบหนึ่งรับเฉพาะชาย  แต่เรามุ่งเน้นเรื่องของความสามารถของทุกเพศสภาพเป็นหลัก

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การระมัดระวังไม่ใช้ภาษา ไม่เผยแพร่ถ้อยคำกิริยาที่มาเหมาะสมส่อไปในทางเสียดสี ลดคุณค่า  บูลลี่ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกอัตลักษณ์ทางเพศ หรือเพศสภาพภาวะของแต่ละบุคคล รวมถึงการป้องกันการคุกคามทางเพศในที่ทำงานด้วย 

นอกจากนี้กระทรวงพม.ยังมีการผลักดันสวัสดิการที่เอื้อต่อการทำงาน พัฒนาทางศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งเราได้นำเข้าสู่รัฐมนตรีตั้งแต่ 11 มกราคม 2565  เช่นการส่งเสริมให้สามีที่เป็น ข้าราชการ สามารถลา เพื่อช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกในขณะที่ภรรยาลาคลอด ซึ่งสามารถลาได้เป็นช่วงๆ

รวมถึงการขยายวันลาคลอดของแม่ที่อยู่ในสถานประกอบการ ให้ได้รับค่าจ้าง และการขยายการบริการศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ซึ่งเดิมเราดูแลตั้งแต่ 3-5 ปี แต่เพื่อให้พ่อแม่ทำงานได้ จึงลดอายุเด็กเป็น 0-3  ปี และปรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากวันแคร์เป็นไนท์แคร์ เพื่อให้ครอบครัวสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นได้เร่งความรู้ความเข้าใจการรับรู้ของสังคม การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน ขจัดการเลือกกปฏิบัติจากความหลากหลาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้สำเร็จและเป็นรูปธรรม