กลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ จัดเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ทำให้หลายประเทศ รวมถึงไทยต่างช่วงชิงโอกาสด้านการท่องเที่ยว ทั้งผลักดันกฏหมายสมรสเท่าเทียม การส่งเสริมท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภายใต้โครงการ GO Thai Be Free อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Top LGBTQ+ Friendly Destination
จากข้อมูลของ LGBT Capital ระบุว่า ก่อนโควิด-19 มูลค่าตลาดหรือการใช้จ่ายของกลุ่ม LGBT ทั่วโลก อยู่ที่ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 135 ล้านล้านบาท ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากกลุ่มนี้อยู่ที่ราว 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.26 แสนล้านบาท โดยเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก รองจาก สหรัฐอเมริกา (25.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ,สเปน (8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และฝรั่งเศส (7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เปิด 10 ประเทศ/เมืองที่มีมูลค่าตลาดด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT ก่อนโควิด-19 สูงสุด
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT ที่มีอยู่กว่า 500 ล้านคนทั่วโลก อยู่ในแถบเอเชีย 288 ล้านคน อันดับ 1 จะเป็นจีน อยู่ที่ราว 90 ล้านคน ตามมาด้วย อินโดนีเซีย 17 ล้านคน ญี่ปุ่น 8.2 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 6.9 ล้านคน เวียดนาม 6.1 ล้านคน
ส่วนในไทยมีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งในอนาคต GAY TIMES คาดการณ์ว่าในปีค.ศ. 2050 ( ปี 2593)ทั่วโลกจะมีจำนวนประชากร LGBTQ+ ทั่วโลกถึง 1 พันล้านคน ตลาดนี้จึงใหญ่มาก
สำหรับไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ให้การยอมรับในความหลากหลายทางเพศ เห็นได้จากพลังสังคมที่เรียกร้องให้มีการสมรสเท่าเทียม ให้สิทธิต่อคู่ชีวิตเพศเดียวกัน และให้รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียมในทุกเพศสภาวะ
แม้ว่าการผ่านกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการสมรสของเพศเดียว กัน หรือกลุ่ม LGBT+ นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่แนวโน้มพฤติกรรมของ LGBT+ ในการอยู่ร่วมกันเป็น “ครอบครัว” ก็มีมากขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งมีการสร้างครอบครัวกับคนต่างชาติ และร่วมกันตั้งรกรากถิ่นฐาน
ใน “ประเทศไทย” ตัวเลขประมาณการของ LBGT Capital พบว่าในปี 2562 กลุ่ม LGBT+ ชาวไทยที่มีอายุมากกว่า 15 ปีมีประมาณ 3.6 ล้านคน คิดเป็น 5 % ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งหากรวมชาวต่างชาติกลุ่ม LGBT+ ที่อาศัยอยู่ในไทยด้วยแล้วนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในสังคม
อีกทั้งจากการจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ+ มากที่สุดในโลกเมื่อปี 2565 การสำรวจ 203 ประเทศ พบว่า ประเทศแคนาดาครองแชมป์ประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ+ มากที่สุดในโลก
เกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับ LGBTQ+ Friendly Destination จะมีทั้งหมด 10 หัวข้อ ได้แก่
1. กฎหมายรับรองสิทธิสมรสเพศเดียวกัน
2.การคุ้มครองแรงงานว่าด้วยเพศวิถีและเพศสภาพ
3. คุ้มครองปกป้องกรณีโดนดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม
4. อัตราการเกิดความรุ่นแรงต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
5. สิทธิและความสามารถในการรับรองเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม
6. เป็นสถานที่ที่สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย
7. มีกฎหมายให้เลือกเพศได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศ
8. อัตราการเกิดอาชญากรรมต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ
9. ความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันผิดกฎหมายหรือไม่ บทลงโทษตั้งแต่จำคุก-ประหารชีวิต
10. มีกฎทางศีลธรรมและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านความหลากหลายทางเพศในสังคมหรือไม่
“ไต้หวัน” เป็นเมืองเดียวในทวีปเอเชีย ที่มีกฎหมายรับรองสิทธิสมรสเพศเดียวกัน จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ติดอันดับประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ+ อันดับที่ 44 ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60 ดังนั้นหากไทยมีกฏหมายนี้รองรับ
ประกอบกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่ม LGBTQ+ ของททท. ภายใต้แคมเปญ GO Thai Be Free ผ่านสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศเพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จากทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้การจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ+ มากที่สุดในโลกของไทย ก็จะไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งเป็นผลดีในการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย ในกลุ่ม LGBTQ+ ในระยะยาว
ทั้งนี้โครงการ “GO Thai Be Free” ของททท.หลักๆจะประกอบไปด้วยการส่งเสริมการขายผ่านการจัดทำและออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อเสนอขายนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ การร่วมมือกับพันธมิตรสนับสนุนการจัดงาน รวมถึงปาร์ตี้เฉพาะกลุ่ม โดยนำเสนอกิจกรรมต่างๆผ่านเว็บไซต์ คลิ๊กที่นี่
การดึงผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานส่งเสริมการขายสำหรับตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเครือข่ายทางการท่องเที่ยวกับ ทราเวล เอเย่นต์ ที่ขายแพคเกจทางการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ รวมทั้งโปรโมทการท่องเที่ยวไทย ในฐานะ Top LGBTQ+ Friendly Destination
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม LGBT+ สอดคล้องกับรูปแบบครัวเรือนในสังคมไทยที่มีลักษะเป็น“ครัวเรือนไร้ลูกหลาน” มากขึ้น ส่งผลให้มีพฤติกรรมการบริโภคที่อาจมีระดับสูงกว่าครัวเรือนอื่น ๆ ด้วยความที่ไม่ได้มีลูกหลานให้ส่งต่อสินทรัพย์ในอนาคต ทำให้การตัดใจสินใช้จ่ายในช่วงปัจจุบันทำได้ง่าย ไม่ต้องคำนึงถึงพันธะต่าง ๆ รอบตัว
นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จะเดินทางอย่างน้อยปีละ 3-4 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 7 เท่า ส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาเพื่อประกอบกิจกรรมที่ตนสนใจ ได้แก่ ถ่ายรูปเช็คอินร้านอาหารหรือจุดเด่นสำคัญ ส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาเพื่อประกอบกิจกรรมที่ตนสนใจ ได้แก่ ถ่ายรูปเช็คอินร้านอาหารหรือจุดเด่นสำคัญ กีฬากลางแจ้งหรือกิจกรรม Soft Adventure
รวมทั้งการท่องเที่ยว Nightlife นิยมสินค้าด้านความบันเทิงและสันทนาการ รวมไปถึงสินค้าด้าน Health and wellness ซึ่งเป็นสินค้าที่ตรงตามความต้องการเสนอขายของไทย อีกทั้งชาว LGBTQ+ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าสำหรับจุดหมายปลายทางในไทย จะนิยมเดินทางเที่ยวกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย และพัทยา LGBTQ+ จึงเป็นตลาดดาวรุ่ง และกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เมืองไทยต้องการ