ชาววังน้ำเขียว จี้“ภูมิธรรม-พัชรวาท” เร่งสางปัญหาแนวเขตอุทยานทับลาน

04 ต.ค. 2566 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 08:50 น.

ชาวบ้านวังน้ำเขียวยื่นหนังสือถึง “ภูมิธรรม-พัชรวาท”ขอให้เร่งปรับแก้แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ในพื้นที่วังน้ำเขียว ชี้ชาวบ้านกว่า 400 คน เดือดร้อนหนัก หลังถูกฟ้องศาล ไล่พ้นเขตอุทยานฯ วอน 2 รมต. ลงพื้นที่ติดตามปัญหาด้วยตนเอง

นายภัคพล เขียวสลับ ตัวแทนประชาชน อ.วังน้ำเขียว เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566  ตนได้ส่งหนังสือร้องเรียน ถึง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกํากับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)  และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ส่งหนังสือถึงพล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ขอให้ช่วยเหลือชาววังน้ำเขียว กรณีปัญหาพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านกับอุทยานฯที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ร.ฎ.ตั้งอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อปี 2524 ประกาศแนวเขตป่าต่าง ๆเข้าเป็นเขตอุทยานโดยไม่ได้ออกเดินสำรวจจริง ว่ามีชาวบ้านทำกินในพื้นที่อยู่ก่อน และไม่ได้ติดประกาศแจ้งประชาชนให้รับรู้ ต่อมาประชาชนถูกแจ้งข้อหาบุกรุกเขตอุทยาน และดำเนินคดีจนเดือดร้อนมาหลายระลอก

สำหรับหนังสือร้องเรียนที่ส่งถึง  พล.ต.อ. พัชรวาท สรุปว่า จากกรณีที่ สคทช.ได้ดําเนินการประสานปรับปรุงแก้ปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินทั้งจากหน่วยงานรัฐทับซ้อนกัน และจากหน่วยงานรัฐทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2562  เป็นต้นมา 

โดยเฉพาะที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่กรมอุทยาน ฯได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนอยู่มาก่อนตามนโยบายความมั่นคงแห่ง ชาติของ กอ.รมน. และจากหน่วยงาน ส.ป.ก. และปัญหาที่เกิดกับประชาชนตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันมีข้อสรุปการแก้ปัญหาชัดเจนแล้ว โดยคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 :4000 (One Map) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 

ชาววังน้ำเขียว จี้“ภูมิธรรม-พัชรวาท” เร่งสางปัญหาแนวเขตอุทยานทับลาน

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่รอให้หน่วยงานต่าง ๆ ดําเนินการนําแผนที่ที่ดินของตนที่มีการปรับปรุงใหม่ไปดําเนินการให้เป็นกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของกรมอุทยาน ๆ ออกมาให้ข่าวต่อสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาแนวเขตที่ดิน โดยเฉพาะ อ.วังน้ำเขียว และให้ ร้ายประชาชนผู้ถูกดําเนินคดีเกือบ 400 คดี ว่าเป็นนายทุนบุกรุกป่า สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก 

นอกจากนี้ยังมีผู้ทําหนังสือถึงองค์การยูเนสโก ไม่เห็นด้วยกับการกันชุมชน 2 ตําบล (ต.ไทยสามัคคี และ ต.วังน้ำเขียว ประมาณ 4,000 กว่าครัวเรือน ที่อยู่ติดกับแนวเขตปรับปรุง ออกจากอุทยาน ฯ เพราะจะทําให้เกิดผลเสียหายต่อสถานภาพการเป็นมรดกโลก 

ทั้งที่ทางกรมอุทยาน ฯเคยให้คํามั่นสัญญาไว้ตอนขอให้อนุมัติให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2548 โดยให้คํามั่นว่าจะกันแนวเขต ดังกล่าวให้เสร็จภายในปี 2550 แต่ประเด็นคําร้องดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจาก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งร่วมประชุมอยู่ให้ความเห็นยืนยันว่า การดําเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าและสถานภาพของพื้นที่มรดกโลก 

ดังนั้น ชาว อ.วังน้ำเขียว กังวลว่า หากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดําเนินการแก้ปัญหา มีพฤติกรรมแนวทางดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อเงื่อนเวลาในการ ดําเนินการให้มีผลเป็นกฎหมายมาก ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการพิจารณาดําเนินคดีของศาลเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกคดีเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว

 จึงขอให้ พล.ต.อ. พัชรวาท  เร่งรัดกรมอุทยาน ฯ ดําเนินการนําแนวเขตปรับปรุงปี 2543 ที่หลายหน่วยงานได้แก้ไขปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วดําเนินการออกเป็นกฎหมายโดยเร็ว เพื่อให้ภาระทางคดี ความของประชาชนจบลง ช่วยคลายทุกข์ที่ยิ่งใหญ่มากของประชาชน

ส่วนหนังสือร้องเรียนที่ชาววังน้ำเขียว ส่งถึง นายภูมิธรรม สรุปว่า การแก้ไขแนวเขตปรับปรุงปี 2543 เป็นกฎหมายที่ล่าช้า มีผลกระทบโดยตรงต่อการพิจารณาคดีความบนศาล ถึงแม้ว่าผู้พิพากษาจะทราบความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา แต่ในเมื่อยังไม่มีผลเป็นกฎหมาย ท่านก็จะต้องพิจารณาไปตามข้อกฎหมายเดิมปี  2524 ซึ่งผู้ถูกฟ้องดําเนินคดีจะมีความผิดทุกราย 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยาน ฯที่เป็นพยานในฐานะโจทก์ผู้ฟ้องคดีร่วมกับเจ้าหน้าที่อัยการ ยังพูดให้การต่อศาลยืนยันต้องดําเนินคดีต่อจําเลยจนถึงที่สุด เพราะจําเลยทุกคนที่ถูกกล่าวหาเป็นพวก นายทุนรุกป่า ฝ่ายจําเลยขอศาลพิจารณาเลื่อนคดีออกไปก่อนเพื่อรอผลการดําเนินการของ สคทช.จะถูกพยานเหล่านั้นมีความเห็นแย้ง สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ถูกดําเนินคดีมาก

จึงขอให้นายภูมิธรรมเร่งประสาน สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทุกหน่วย เร่งรัด การแก้ไขและดําเนินการให้แนวเขตปรับปรุงปี  2543 เป็นแนวเขตของอุทยานฯโดยเร็ว เพื่อให้ภาระทางคดี ความจบลง จากการถูกส่วนราชการกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม

ในท้ายของหนังสือร้องเรียนทั้ง 2 ฉบับ ได้ขอให้นายภูมิธรรม  และ พล.ต.อ. พัชรวาท  ลงพื้นที่อําเภอวังน้ำเขียว พบปะประชาชน เพื่อช่วยทําความเข้าใจ และมีการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในการประกอบอาชีพหารายได้ของคนอําเภอวังน้ำเขียวด้วย