อุทยานฯเล่นกลแก้‘ทับลาน’ ชาวบ้านวังนํ้าเขียวฮึ่มฟ้องอธิบดี

06 พ.ค. 2565 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2565 | 16:28 น.

ชาวบ้านวังน้ำเขียวสุดมึนดองข้ามปี กรมอุทยานฯไม่นับหนึ่งขยับปรับแนวเขตตามมติครม. กับผูกปมปัญหาเพิ่ม นัดชาวบ้าน 3 หมู่บ้านปักหลักเพื่อกำหนดเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ตามกฎหมายอุทยานฯทับซ้อนเข้าไปอีก จนต้องส่งหนังสือร้องผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินคดีอธิบดีกราวรูด

แม้มีมติครม.มาตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่ถึงวันนี้กรมอุทยานฯยังไม่ขยับ แก้เขตอุทยานทับลานทับที่ชาวบ้านวังนํ้าเขียว ที่ต้องนับหนึ่งปรับแนวเขตตามผลสำรวจรังวัดร่วมปี 2543 แต่กลับผูกปมใหม่นัดชาวบ้านลงปักหลักเขต ตามกฎหมายอุทยาน ชาวบ้านไทยสามัคคีร้องผู้ตรวจการแผ่นดินอีกรอบ จี้ครม.เบรกร่างพ.ร.ฎ.กำหนดพื้นที่บริหารเพื่อการอนุรักษ์ และฟ้องคดีอธิบดีกรมอุทยานฯผิดม.157

 

นายภัคพล เขียวสลับ ตัวแทนและผู้ประสานงานราษฎรบ้านไทยสามัคคี อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา ได้ทำหนังสือลงวันที่ 20 เม.ย. 2565 ถึงนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินคดีผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งอดีตและปัจจุบัน ฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

อุทยานฯเล่นกลแก้‘ทับลาน’ ชาวบ้านวังนํ้าเขียวฮึ่มฟ้องอธิบดี

ภาพจากแฟ้ม ชาวบ้านไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว เรียกร้องแก้ปัญหาแนวเขตอุทยานทับลานตามมติครม.เดือนก.พ.2564ที่ผ่านมาปีกว่ายังไม่คืบหน้า

พร้อมแนบสำเนาหนังสือ 6 รายการ ทั้งสำเนาหนังสือแจ้งผลการแก้ปัญหาของหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักนายกฯ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ขณะเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปลัดกระทรวงทรัพยฯ ตลอดจนสำเนาหนังสือราษฎรถึงผู้ว่าฯนครราชสีมา คัดค้านการอนุญาตและร่วมมือเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่จะเข้าปักหลักเขต และรายมือชื่อ ราษฎร 126 รายขอให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ฟ้องคดีผู้บริหารและข้าราชการที่ปฎิบัติหน้าที่มิชอบ

 

เนื้อหาในหนังสือถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดินล่าสุด(20 เม.ย. 2565) แจ้งว่า การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรอ.วังนํ้าเขียว จ.นครรราชสีมา ทั้งที่ได้มีมติครม.กำหนดแนว ทางและขั้นตอนการปฎิบัติไว้ตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ที่ผ่านมาการทำงานของฝ่าย นโยบาย-ฝ่ายบริหารในส่วนกลางไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ เกรงว่าหากปล่อยให้กรมอุทยานฯทำไปตามลำพังจะเกิดปัญหาซํ้าซ้อนและยากแก่การแก้ไข

ส.ส.ประชาธิปัตย์ฺและตัวแทนนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รับฟังข้อมูลและหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านไทยสามัคคี

อุทยานฯเล่นกลแก้‘ทับลาน’ ชาวบ้านวังนํ้าเขียวฮึ่มฟ้องอธิบดี

โดยแต่ละหน่วยยึดกรอบและแนวทางของหน่วยตนเป็นหลัก แล้วส่งเรื่องให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการ ผู้บริหารกระทรวงทรัพยฯ ก็ยึดแนวทางของกรมอุทยานฯด้านเดียว โดยไม่ลงพื้นที่รับข้อมูลของประชาชนไปพิจารณาประกอบ

 

คณะรัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาตามข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ก็ไม่ชัดเจนเด็ดขาดในแนวทางปฎิบัติ กลับมอบให้กรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นตอปัญหา ให้เป็นหน่วยงานหลักไปแก้ไข ผู้บริหารกระทรวงทรัพยฯ ก็มอบและยึดแนวทางของกรมอุทยานฯด้านเดียว โฆษกรัฐบาลแถลงข่าว ดูดีแต่ไม่มีความชัดเจนในแนวปฎิบัติ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.วังนํ้าเขียว ที่ไม่อาจรอโครงการ One-Map ได้เหมือนพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

 

ขณะเดียวกันกรมอุทยานฯใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ มาใช้สำหรับที่อ.วังนํ้าเขียวและอุทยานแห่งชาติทับลาน มิใช่เพื่อแก้ปัญหาให้ราษฎร แต่เพื่อกลบเกลื่อนข้อผิดพลาดบกพร่องในอดีต
ของหน่วยงาน โดยประสานฝ่ายปกครองท้องที่ นัดหมายประชาชนลงพื้นที่ปักหลักเขตรอบหมู่ที่ 2 บ้านสุขสำราญ และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยใหญ่ใต้ ต.ไทยสามัคคี อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา ต่อจากที่เคยดำเนินการในเขตหมู่ที่ 2 บ้านสวนห้อม

 

เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นการนำพิกัดปักหลักเขตเพื่อนำไปทำแผนที่ในการออกพ.ร.ฎ.ให้อยู่ในเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งผลที่ได้มิใช่เพื่อประชาชน แต่เป็นการกลบเกลื่อนข้อผิดพลาดบกพร่องการดำเนินงานของหน่วยงานตนในอดีต ซํ้าร้ายจะเป็นการนำชุมชนหนาแน่นกว่า 1,000 หลังคาเรือน ซึ่งได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้ว กลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งมีภารกิจด้านการอนุรักษ์ จึงเป็นการทำงานที่สวนทางกันอย่างยิ่ง

 

 นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวโดยร่วมมือกับฝ่ายปกครองท้องที่ นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยอ้างข้อกฎหมายกลับสร้างความแตกแยกแบ่งพวกแบ่งฝ่ายในหมู่ประชาชนพื้นที่ 3 หมู่บ้านดังกล่าวอย่างมาก

 

ตอนท้ายหนังสือฉบับนี้ ร้องขอผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาช่วยเหลือ โดย

 

1. แจ้งนายกฯเพื่อประสานครม. ระงับการออกพระราชกฤษฎีกา ที่จะนำหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอวังนํ้าเขียว ไปกำหนดเป็นเขตพื้นที่บริหารเพื่อการอนุรักษ์ไว้ก่อน เนื่องจากหาก พ.ร.ฎ.ดังกล่าวออกมา จะสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ชาวบ้านจำนวนมาก และยังสวนทางคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดิน 6 ส.ค. 2562 ด้วย

 

 2. หากกระทรวงทรัพยฯและกรมอุทยานฯ ไม่ดำเนินการตามแนวทางที่ถูกต้องสมควร ขอให้พิจารณาฟ้องร้องเอาผิดผู้บริหารหน่วยงาน ในฐานะละเมิดสิทธิต่อประชาชน ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดรัฐธรรมนูญและหลักความยุติธรรมด้วย 

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,781 วันที่ 8-11 พฤษภาคม พ.ศ.2565