13 ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช” ความสำคัญและประวัติความเป็นมา

13 ต.ค. 2566 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 05:34 น.

วันนวมินทรมหาราช (อ่านว่า นะ-วะ-มิน-ทะ-ระ-มะ-หา-ราด) ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

 

ประวัติความเป็นมา ของ “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งแปลว่า “วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่” นั้นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นวันหยุดราชการ และออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 และในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตกำหนดให้วันดังกล่าว เป็น "วันสำคัญของชาติไทย" และให้จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกับวันปิยมหาราช(ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5)

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 มีมติเห็นชอบให้ “กำหนดชื่อวันดังกล่าว” ตามที่ได้ขอพระราชทานชื่อจากรัชกาลที่ 10 ว่า "วันนวมินทรมหาราช" อันเป็นชื่อที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ประทานเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย

ทั้งนี้ ชื่อ "วันนวมินทรมหาราช" แปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราช รัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่

วานนี้ (12 ต.ค.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช” เอาไว้ มีรายละเอียดว่า

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความวิวัฒน์พัฒนาของชาติบ้านเมือง เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์ และยังความผาสุกร่มเย็น แก่ผองพสกนิกรชาวไทย พระเกียรติคุณเป็นที่แซ่ซ้องก้องประจักษ์ ทั้งแก่ปวงชนชาวไทยและนานาอารยประเทศ

แม้การเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 จะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึงถึงด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่รู้ลืมเลือน  เพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคตเป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน ประกอบกับวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2566 จะเป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือ “สัตตมวรรษ”

วันนวมินทรมหาราช แปลว่า “วันที่ระลึกถึงพระมหาราช รัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่”

รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เกี่ยวกับการกำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระอริยวงตาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำริประทานชื่อวันดังกล่าวเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยว่า “วันนวมินทรมหาราช” แปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่

การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา จึงกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น  “วันนวมินทรมหาราช” บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 รับทราบการกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี  เป็น “วันนวมินทรมหาราช”

13 ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช” ความสำคัญและประวัติความเป็นมา

กิจกรรมวันนี้ทำอะไรบ้าง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทย ร่วมน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยขอให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศ ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม เนื่องในโอกาสพิเศษดังกล่าว

ในส่วนของรัฐบาลได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดกิจกรรมเนื่องในวันนวมินทรมหาราช ดังนี้

  • จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพร้อมภริยา
  • ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ ให้สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม รวมทั้งเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
  • จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมเครื่องราชสักการะ ตามอาคารสถานที่ กำหนดระหว่างวันที่ 1 - 31 ตุลาคม ของทุกปี โดยเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศดำเนินการ
  • จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม โดยเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศจัดกิจกรรมในโอกาสพิเศษดังกล่าว
  • คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เผยแพร่สารคดีโทรทัศน์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ