ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมาก 369 : 10 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระแรก จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี, นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายสรรเพชญ์ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และจากภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่า 10,000 คน
โดยการอภิปรายของ สส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านส่วนใหญ่ ต่างสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะการจำกัดการสมรสเฉพาะชายหญิงปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ที่ความรักไม่ได้แบ่งเพียงชาย-หญิง แต่ยังมีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจากบรรทัดฐานของสังคมไทยในอดีต ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน เช่น สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาล สิทธิมรดก และสิทธิการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เป็นต้น จึงเชื่อว่า การสมรสเท่าเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่จะยอมรับความแตกต่าง ใช้สิทธิทางเพศของตนเองได้อย่างเต็มที่ และเสริมสร้างโอกาส และความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และในเชิงเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ได้ เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รายได้จากนักท่องเที่ยวกล่ม LGBTQ+ ในภูมิภาคเอเชียกว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับเนื้อหาภายในร่างกฎหมายที่สำคัญ อาทิ การสมรส และการหมั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย เมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว โดยการสมรสจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนแล้ว ซึ่งในการหมั้นแล้วฝ่ายใดผิดสัญญา อีกฝ่ายมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน และกรณีผู้รับหมั้นผิดสัญญา จะต้องคืนของหมั้นแก่ผู้หมั้นด้วย และคู่หมั้นอีกฝ่าย อาจเรียกค่าเสียหายจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นตนภายหลังการหมั้นได้ และคู่สมรสทุกเพศ ยังมีสิทธิในสินสมรสเหมือนคู่สมรสชายหญิง สิทธิในการฟ้องหย่า การจัดการสินสมรสหลังหย่า สิทธิในมรดก
โดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีกำหนดใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเวลาเตรียมพร้อมในการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมยังกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมาย ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบ ที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรส สามี ภรรยา เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรส โดยจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรสด้วย และต้องเสนอร่างกฎหมายที่ควรจะต้องมีการแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรี ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้ สส.พรรคประชาชาติ รวมไปถึง สส.มุสลิมจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ส่วนหนึ่ง ได้ขอใช้สิทธิลงมติไม่รับหลักการ เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าว ยังขัดต่อแนวคิด และความเชื่อของชาวมุสลิมในศาสนาอิสลาม แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่สบายใจต่อการแก้ไขคู่ชีวิตให้เป็นเพศเดียวกัน เพราะในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ระบุคู่สมรส ต้องเป็นเพศชาย และหญิงเท่านั้น จึงทำให้ลงมติไม่รับหลักการ
สำหรับขั้นตอนภายหลังที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติให้ความเห็นชอบรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับแล้ว ที่ประชุมฯ จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 39 คน เพื่อนำเนื้อหาในร่างกฎหมาย ทั้ง 4 ฉบับ ที่มีการเสนอมาปรับแก้ร่วมกัน ก่อนส่งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในวาระที่ 2-3 ตามขั้นตอนต่อไป
ส่วนทางด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า ผมขอแสดงความยินดีกับพี่น้อง LGBTQIA+ ทุกท่านที่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนท่วมท้น
วันนี้ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นแล้วครับ