มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP) ในฐานะผู้นำด้านการสร้างโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท อองเทรอเพรอเนอ แอดไวเซอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ “EAC” บริษัทที่ปรึกษาครบวงจร สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนในประเทศไทย ร่วมกันสร้างเส้นทางการเติบโตในธุรกิจกลุ่ม Startups และ SMEs รวมถึงระบบนิเวศทางด้านธุรกิจ (Startup Ecosystem) พร้อมเร่งศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพให้พร้อมเติบโตออกสู่ระดับโลก
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า Ecosystem และJourney ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ทีมนวัตกรรมเป็นฐานในการผลักดันนวัตกรรมสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยปักหมุดเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งในประเทศไทยในการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมที่สุดในการส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) โดยมุ่งผลักดันสตาร์ทอัพในรั้วมหาวิทยาลัย ภายใต้โปรแกรม “builds” (CMU Startup & Entrepreneurial Platform)
รองอธิการบดี มช. กล่าวต่ออีกว่า " Basecamp24 " ถือว่าเป็นโปรแกรมที่ประสบความสำเร็จมากในการปั้นธุรกิจ สตาร์ทอัพ ในภาคเหนือ จุดมุ่งหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ คือ ปูเส้นทางเพื่อพาธุรกิจสตาร์ทอัพ และ SMEs เติบโตไปไกลถึงระดับโลก และสามารถแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นได้ ซึ่งยังต้องอาศัยการผลักดันจากหลายภาคส่วน และความร่วมมือกับ EAC ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด และเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการได้เข้าถึงที่ปรึกษาธุรกิจที่มีศักยภาพระดับแนวหน้าของประเทศ สามารถเชื่อมโยงนักลงทุนกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจไปสู่จุดหมายเดียวกัน โดยตั้งเป้าปี 2027 จะมีสตาร์ทอัพ 480 บริษัท จะทำให้เศรษฐกิจในเชียงใหม่หมุนเวียน และจะสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่
นายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการบริษัท อองเทรอเพรอเนอ แอดไวเซอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา EAC มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจ สตาร์ทอัพและ SMEs เราจึงตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น โดยการผนึกกำลังร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งเสริมความสามารถให้กับผู้ประกอบการ ผ่านความเชี่ยวชาญอย่างครบครันทุกด้าน
อาทิ ด้านการเงินการลงทุน ด้านธุรกิจ และด้านกฎหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การระดมทุนในตลาดทุน เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากหลายแหล่งอย่าง Venture Capital (VC) หรือ Corporate Venture Capital (CVC) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อีกด้วย
ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เผยว่า การบริหารจัดการระบบนิเวศทางธุรกิจที่เพียบพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนผู้ประกอบการ
โดยอุทยานฯ มีโครงสร้างพื้นฐานรายล้อมด้วยระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพ อย่างพื้นที่สำหรับทำงาน แบบเพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ไอเดีย (The Brick Series) พื้นที่สร้างสรรค์ตัวอย่างการขึ้นรูปชิ้นงาน (The Brick FABLAB) พื้นที่สำนักงาน ที่พร้อมรองรับสตาร์ทอัพในทุกระดับการเติบโต รวมทั้งมี "Basecamp24" พื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างครบวงจร 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งบริษัท สตาร์ทอัพ ได้แล้วถึง 378 ราย และสร้างรายได้รวม 4,379 ล้านบาท