นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ได้พัฒนา และปรับปรุงที่ราชพัสดุแปลงที่ กท.3870 โฉนดที่ดินเลขที่ 763 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 214.50 ตารางวา ให้เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนย่านตลาดน้อย ตลอดจนภารกิจของกรมธนารักษ์
โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธตลาดน้อย" ซึ่งมอบหมายให้กองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ ดำเนินการบริการจัดการพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ พื้นที่ราชพัสดุแปลงนี้ ในอดีตเป็นโรงกลึงขนาดใหญ่ทำชิ้นส่วนประกอบเรือ เครื่องจักรและโรงสีข้าว ภายหลังเลิกกิจการ พื้นที่ถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ กรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการท่องเที่ยวของชุมชนตลาดน้อย สำหรับจัดแสดงนิทรรศการความรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนย่านตลาดน้อย ตลอดจนภารกิจของกรมธนารักษ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีการรับฟังความเห็นของชาวชุมชนตลาดน้อย เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน รวมทั้งแนวคิดการออกแบบพื้นที่และอาคารที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกลมกลืนกับธรรมชาติ
ตลอดจนการนำวัสดุไม้ของโรงกลึงเดิมนำกลับมาใช้ใหม่ และใน พ.ศ. 2562 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ที่สมควรเผยแพร่ ประเภทอาคารสาธารณะให้แก่อาคารพิพิธตลาดน้อยแห่งนี้
สำหรับพื้นที่พิพิธตลาดน้อย ประกอบไปด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรม มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 250 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ประกอบด้วย
อาคารสำนักงาน สำหรับใช้ปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ขนาดพื้นที่ประมาณ 115 ตารางเมตร และพื้นที่ลานกิจกรรมกลางแจ้ง พื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร
“พิพิธตลาดน้อย ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมฟรี ในวันอังคาร – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. วันเสาร์ - วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 – 18.00 น. สำหรับการจำหน่ายเหรียญที่ระลึกและผลิตภัณฑ์เหรียญเปิดบริการทุกวัน”