สงกรานต์นี้ เมาแล้วขับ -ปฏิเสธการเป่า มีบทลงโทษอย่างไรบ้าง เช็คเลย

12 เม.ย. 2567 | 11:59 น.
อัพเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2567 | 12:04 น.

เมาแล้วขับ -ปฏิเสธการเป่า-เมาแล้วชนผู้อื่น มีบทลงโทษอย่างไร พร้อมไขข้อข้องใจ ทริกการดื่มเครื่องดื่มต่างๆเพื่อลดค่าแอลกอฮอล์ช่วยได้หรือไม่ เช็คคำตอบที่นี่

เทศกาลสงกรานต์ 2567 เริ่มขึ้นแล้ว ดังนั้นก่อนที่จะไปปาร์ตี้ ไปม่วนไปจอย ก็ขอนำกฏหมายเกี่ยวกับเมาแล้วขับ เมาแล้วชน เมาแล้วปฎิเสธการเป่ามาฝาก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทั้งต่อตัวเองและเพื่อนร่วมทาง ซึ่งข้อกฏหมาย-บทลงโทษต่างๆจะมีอะไรบ้างนั้น สามารถตรวจสอบได้ดังต่อไปนี้ 

เมาแล้วขับ 

  • จำคุกไม่เกิน 1 ปี  ปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

ปฏิเสธการเป่า

  •  ปฏิเสธการเป่า = เมาแล้วขับ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 – 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน ศาลสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ 

  • จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ 

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส 

  • จำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี 

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 

  • จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

ส่วนนักดื่มที่เคยอ่านคำแนะนำว่าหากเจอด่านตรวจฯ แล้วต้องดื่มเครื่องดื่มต่างๆเพื่อช่วยลดปริมาณแอลกอฮอล์ วันนี้กรมการขนส่งทางบก ก็ได้มาไขข้อข้องใจว่า เหล่าเครื่องดื่มทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นนมเปรี้ยว น้ำเปล่า กาแฟ น้ำสมุนไพร น้ำยาบ้วนปาก หมากฝรั่ง  ทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ทำลายแอลกอฮอล์ในเลือด ทำได้เพียงลดกลิ่นและเจือจางแอลกอฮอล์ภายในช่องปากเท่านั้น

 

ดังนั้นใครที่บอกว่าช่วยลดปริมาณแอลกอฮอล์ ก็ต้องบอกว่า "ไม่มีจริง" ทั้งนี้การทำงานของเครื่องตรวจจับแอลกอฮอล์ จะตรวจหาแอลกอฮอล์จากลมหายใจส่วนลึก ที่สัมผัสเส้นเลือดฝอยในถุงลมปอดเท่านั้น 

 

เอาเป็นว่าสงกรานต์นี้ หรือไม่ว่าจะเทศกาลไหนๆหากได้ดื่มได้ดริงค์ ก็อย่าขับจะดีที่สุด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่น 

ไขข้อข้องใจ ทริกการดื่มเครื่องดื่มต่างๆเพื่อลดค่าแอลกอฮอล์ช่วยได้หรือไม่

ที่มาข้อมูล-ภาพ

  • กรมการขนส่งทางบก