วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ซึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี มีจุดเริ่มต้นขึ้นมาจากการเล็งเห็นถึงอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ทั้งของผู้สูบบุหรี่เองและผู้ไม่สูบแต่ได้รับควันบุหรี่ ถึงขั้นระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร “ที่สามารถป้องกันได้”
WHO จึงริเริ่มจัดงานวัดงดสูบบุหรี่โลกครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 เพื่อรณรงค์ให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้ประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงกระตุ้นให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำหนดนโยบายหรือกฎหมายเพื่อควบคุมยาสูบและการสูบบุหรี่ และนับจากปีนั้น เป็นต้นมา ก็ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” (World No Tobacco Day) โดยแต่ละปีจะมีคำขวัญแตกต่างกันไป ตามแต่ธีมหรือเนื้อหาที่ WHO ต้องการเน้นให้ความสำคัญหรือให้สังคมตระหนักเป็นพิเศษในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับบุหรี่
โดยในปีนี้ WHO กำหนดคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกไว้ว่า Protecting children from tobacco industry interference. ซึ่งในภาษาไทยใช้คำว่า “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงอันตรายของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่กำลังคุกคามเยาวชนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างการที่หลายบริษัทได้เร่งออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ใส่สารปรุงรสต่างๆ ซึ่งปัจจุบันพบกว่า 16,000 รสชาติ รวมทั้งการออกแบบรูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าให้จูงใจเด็กๆและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์รูปการ์ตูน หรือแม้แต่คาแรคเตอร์แอนิเมชันต่างๆที่เด็กๆชื่นชอบ รวมไปถึงการใช้สีสันสวยงามสะดุดตา
ส่งผลให้สถิติการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น โดยในเด็กชายสูงขึ้นถึง 20% และเด็กหญิง 15%
ด้วยเหตุนี้ หลายหน่วยงานจึงเริ่มออกมารณรงค์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับภัยร้ายของบุหรี่ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าที่เจาะกลุ่มเป้าหมายไปยังเด็กและเยาวชน
ข้อมูลที่น่าห่วงกังวลทั้งจาก WHO และจากรายงานล่าสุดของ STOP ซึ่งเป็นองค์การวอตช์ด็อกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยาสูบ ว่าด้วยเรื่อง Hooking the Generation แสดงให้เห็นว่าเด็กอายุระหว่าง 13-15 ปีทั่วโลกประมาณ 37 ล้านคนใช้ยาสูบ และอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นยังสูงกว่าผู้ใหญ่ในหลายประเทศ
สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2564 ที่ระบุว่า จากจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งสิ้น 57 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ถึง 9.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.4
โดยกลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด คือ ร้อยละ 21.0 ข้อมูลผลการสำรวจยังพบว่าร้อยละ 60.8 ของนักสูบหน้าใหม่ เป็นผู้ที่มีอายุ ระหว่าง 15-19 ปี สูงถึง 950,000 คน ซึ่งในจำนวน 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ส่วน 3 คน เลิกได้ แต่จะติดบุหรี่เฉลี่ยกว่า 20 ปี
จำนวนตัวเลขเหล่านี้ ยังไม่นับรวมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากกลยุทธ์บริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเครือข่ายผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ที่พยายามโฆษณาหลอกล่อเด็กและเยาวชน และที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มการสูบบุหรี่กลับสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาด รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อหาลูกค้ารายใหม่ จำนวนอย่างน้อย 100,000 คนในแต่ละปี ทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิตไป
ข้อมูลของ WHO ชี้ว่า นิโคตินในบุหรี่นั้นมีผลต่อสมองของวัยรุ่น ทำให้พร้อมที่จะรับและติดสิ่งเสพติดชนิดอื่น เช่น แอลกอฮอล์ เฮโรอีน โคเคน กัญชา เพิ่มขึ้นหลายเท่า นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ยังมีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบ 2-4 เท่า (Gateway Effect)
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องมีการรณรงค์กันอย่างจริงจังก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ที่มา: World Health Organization / มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่