“จุลพันธ์” สั่งศุลกากรเข้มจับสินค้าเถื่อน เน้น “บุหรี่ไฟฟ้า-ยาเสพติด”

30 พ.ค. 2567 | 06:36 น.
อัพเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 06:36 น.

“จุลพันธ์” รมช.คลัง สั่งศุลกากรเข้มจับสินค้าเถื่อน เน้น “บุหรี่ไฟฟ้า-ยาเสพติด” คาดสิ้นปีงบ 67 จัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานกรมศุลกากร ว่า ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่ผิดกฎหมายที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ส่วนสินค้าที่ถูกกฎหมาย ก็จะต้องอำนวยความสะดวก เพื่อให้การนำเข้าและส่งออกคล่องตัว และให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับนโยบายเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่ผิดกฎหมายที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นนั้น ตนได้เน้นย้ำในสินค้าหลัก คือ 1.ยาเสพติด 2.บุหรี่ไฟฟ้า และ 3. สินค้าเกษตรต้องห้าม โดยบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีปริมาณการลักลอบนำเข้าในประเทศจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนต่างๆ ดังนั้น จึงขอให้เข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น

“รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนไทยหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกันเป็นจำนวนมาก ท่านนายกฯ จึงให้เร่งดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ อย่างจริงจัง โดยให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด”

สำหรับในเดือนพฤษภาคม 2567 (ตั้งแต่วันที่ 1 – 29 พฤษภาคม 2567) กรมศุลกากรได้จับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 27 ราย ปริมาณ 726,499 ชิ้น มูลค่า 107,132,722 บาท  

และในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 29 พฤษภาคม 2567 กรมศุลกากรจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 228 ราย ปริมาณ 1,026,971 ชิ้น มูลค่า 147,102,131 บาท และบุหรี่ จำนวน 1,268 ราย ปริมาณ 20,297,272 มวน มูลค่า 122,743,334 บาท รวมทั้งสิ้น 1,496 ราย ปริมาณ 21,324,243 ชิ้น มูลค่า 269,845,465 บาท 

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ ได้รับรายงานว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น ก็เชื่อว่า การจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณ 67 จะเป็นไปตามเป้าหมาย

ส่วนการอำนวยความสะดวกทางการค้านั้น เขากล่าวว่า การอำนวยความสะดวกทางการค้า ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การค้าขายระหว่างประเทศมีความคล่องตัว อย่างไรก็ดี สำหรับการตรวจปล่อยสินค้าสำหรับการส่งออกนั้น ได้ขอให้กรมฯเพิ่มการบริหารความเสี่ยงต่อสินค้าที่ผิดกฎหมายให้มากขึ้น หากพบว่า สินค้าที่ส่งออกเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ