KEY
POINTS
จากนโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่ถูกยกระดับให้เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว นโยบายเรือธงของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบสาธารณสุขของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการให้บริการกับประชาชน
จากเดิมที่ต้องไปรับบริการจากหน่วยบริการประจำที่เป็นคู่สัญญาในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่เรียกว่า Contracted Unit for Primary care (CUP) เพื่อจะขอใบส่งตัวผู้ป่วยกรณีที่ต้องการจะไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นในเครือข่าย หรือ นอกเครือข่าย หากเป็นผู้ป่วยใน ทำให้ประชาชนขาดความสะดวกสบายในการใช้บริการ
การยกระดับเป็นบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะช่วยให้ประชาชนสามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลในพื้นที่หรือในจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ได้ กล่าวคือ นอกจากเข้ารับจากโรงพยาบาลหลักแล้วยังสามารถใช้บริการจากโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน และร้านขายยาต่าง ๆ ได้อีกด้วย เพื่อทดสอบ
แนวคิดดังกล่าวเพราะเชื่อว่า จะทำให้ประชาชนหันไปใช้บริการกับโรงพยาบาลใหญ่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมองว่า รพ.ใหญ่น่าจะมีหมอที่เก่งจำนวนมาก จากปกติที่มีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมากอยู่แล้วจะทำให้เกิดความแออัดได้ รัฐบาลจึงได้นำร่องทยอยเปิดให้บริการแบ่งออกเป็นเฟสต่าง ๆ
โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2567 ตั้งเป้าสิ้นปี 2567 จะสามารถให้บริการครอบคลุมได้ทั้งประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะคิกออฟในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ท่ามกลางความกังวลและตั้งคำถามว่า พร้อมหรือยัง หลังจากที่เจอปัญหามากมายจากการใช้บริการก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยบัตรทองใน กทม. มีมากถึง 3.5 ล้านคน จึงมีความซับซ้อนของโครงสร้างและระบบการให้บริการต่าง ๆ ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งเรื่องของรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่น ของ สปสช. และการจ่ายกรณีส่งต่อ เกิดปัญหาใบส่งตัวเพราะคลินิกชุมชนอบอุ่นในโครงการบัตรทอง ไม่ออกใบส่งตัว หรือ มีข้อจำกัดในการออกใบส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลแม่ข่าย
ขณะที่ โรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. ก็ยังต้องการใบส่งตัว ด้านโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ใช่เครือข่ายบัตรทองก็ไม่เข้าร่วมโครงการ สวนทางกับแนวทางที่ระบุว่า ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็เข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว สร้างปัญหาและความสับสนให้กับประชาชนผู้ใช้บริการมาต่อเนื่อง
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567 ได้มีการหยิบยกประเด็น 30 บาทรักษาทุกที่ในเขต กทม. มาหารือร่วมกัน หนึ่งในข้อสรุปสำคัญ คือ การเห็นชอบ "การกำหนดมาตรการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่" เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
1.การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2545
2.การกำหนดหลักเกณฑ์ และการดำเนินการในการรับบริการของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567
3.การกำหนดตราสัญลักษณ์ และการใช้ตราสัญลักษณ์ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ พ.ศ.2567 เป็นการกำหนดตราสัญลักษณ์ และหลักเกณฑ์ใช้ตราสัญลักษณ์ตามนโยบายฯ ในพื้นที่ กทม. โดยกำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุข และทราบถึงหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนหรือส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขดังกล่าว โดยผู้ที่นำตราสัญลักษณ์นี้ไปใช้ต้องเป็นหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุขตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ที่ผ่านการรับรองจาก สปสช.
4.การกำหนดหลักเกณฑ์ และการดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่กรุงเทพฯ ที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการ
เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวกเพื่อประโยชน์ในการบริการสาธารณสุขให้แก่ประชาชน มีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบถ้วนและไร้รอยต่อ โดยมีการยกระดับความปลอดภัยของข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช. อธิบายว่า สำหรับประกาศ 2 ฉบับแรกข้างต้นนั้น เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้บริการของหน่วยบริการ และการเข้ารับบริการของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่
กรณีที่เจ็บป่วยทั่วไปหรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจำ ที่ได้รับการรับรอง และติดป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมให้บริการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ได้
นอกจากนี้ยังกำหนดให้หน่วยบริการต้องติดโลโก้ "30 บาทรักษาทุกที่" ไว้หน้าหน่วยบริการเพื่อสื่อสารให้เกิดความชัดเจนในการให้บริการกับประชาชนไม่เกิดความสับสนเหมือนที่ผ่านมา
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวย้ำว่า ตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ติดที่หน่วยบริการ คือ หน่วยบริการในระดับปฐมภูมิที่เข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ผ่านหลักเกณฑ์ 3 ข้อแล้ว คือ
1.มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการทั้งก่อนการใช้บริการและหลังการใช้บริการ หรือที่เรียกว่าการเปิดและปิดสิทธิในการให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้
2.ได้ทำการเชื่อมข้อมูลสุขภาพกับ สปสช. แล้ว
3.มีระบบส่งต่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Referral) เพื่อเชื่อมข้อมูลกับโรงพยาบาลรับส่งต่อในเครือข่ายในกรณีที่อาการผู้ป่วยเกินศักยภาพให้บริการได้
ขณะเดียวกันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร ระบุว่า มีการเชื่อมระบบข้อมูลของหน่วยให้บริการของ กทม. เชื่อมต่อกันแล้วเกือบ 100% เหลืออีกกว่า 100 แห่งเท่านั้นจากทั้งหมด 1,400 แห่ง ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้
ล่าสุด สปสช. ออกประกาศขอเชิญคลินิกเวชกรรม, คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์, คลินิกทันตกรรม, คลินิกเทคนิคการแพทย์, คลินิกการแพทย์แผนไทย, คลินิกกายภาพบำบัด, ร้านยา GPP+ และร้านยาคุณภาพ สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมให้บริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งพร้อมเร่งปรับปรุงระบบรองรับ ลงทะเบียนง่าย จ่ายเงินคืนเร็ว หากข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์
เชื่อว่าชั่วโมงนี้ คงมีคลินิก ร้านยาเอกชน จำนวนไม่น้อยที่ขอเข้าร่วม และทำให้ผู้ถือบัตรทอง 30 บาทในกทม. ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการมากขึ้น ไม่มากก็น้อย