นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากรณีดินถล่มในอุโมงค์คลองไผ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมานั้น จากที่ได้รับรายงานจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างและผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญา 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง โดยมีบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง
ปัจจุบันสัญญาดังกล่าวมีความคืบหน้ามากกว่าร้อยละ 75 โดยเมื่อช่วงประมาณ 23.40 น. ของวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ได้เกิดเหตุดินถล่มภายในอุโมงค์คลองไผ่ บริเวณกิโลเมตรที่ 189+435 ห่างจากปากอุโมงค์ฝั่งคลองไผ่ประมาณ 1.6 กิโลเมตร
เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากช่วงก่อนวันเกิดเหตุมีฝนตกต่อเนื่อง จึงมีน้ำซึมเข้าสู่ชั้นดินบริเวณด้านบนของอุโมงค์ เมื่อดินอุ้มน้ำมีปริมาณน้ำมาก
ขณะที่มีการดาดคอนกรีตด้านบนบางส่วน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการดาดเต็มวงรอบของผนังอุโมงค์ให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ดินที่มีน้ำหนักมากดังกล่าวถล่มลงมาทับรถบรรทุก และยานพาหนะที่เข้าไปปฏิบัติงาน
ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ชาวจีน 2 คนและชาวเมียนมาร์ 1 คน ติดอยู่ภายในอุโมงค์ ซึ่งที่ผ่านมา เบื้องต้นได้กำชับให้รฟท.และผู้รับจ้างประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานกู้ภัยที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่อย่างเต็มความสามารถ
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการกู้ภัยปัจจุบันได้ดำเนินการดันท่อเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 เมตร ยาวท่อนละ 6 เมตรเข้าไปแล้ว 2 ท่อนและอยู่ระหว่างดำเนินการท่อที่สาม จะได้ความยาว 18 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพสูงมาดันท่อเหล็กดังกล่าวเพิ่ม
นอกจากนี้การดำเนินการดันท่อขนาดเล็กที่มีอุปกรณ์ตรวจจับตำแหน่ง เพื่อค้นหาตำแหน่งผู้ที่ติดค้างภายในอุโมงค์ โดยคาดว่าจะดำเนินการครบ 5-6 ท่อนภายในคืนนี้ ไม่เกินพรุ่งนี้เช้า เพื่อเพิ่มอากาศในอุโมงค์ พร้อมทั้งช่วยเหลือและค้นหาผู้ที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์ ควบคู่กับการใช้เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ และสุนัข K-9 ช่วยค้นหาผู้ประสบภัย
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงตรวจสอบสัญญาจ้างต่าง ๆ อย่างละเอียด ขณะเดียวกันจะจัดทำสมุดพกตัดคะแนนผู้รับเหมา ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมประมูลงานอื่น ๆ ในอนาคตด้วย เพื่อให้งานก่อสร้างมีความปลอดภัยและมีคุณภาพที่ดี
“ผมรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและห่วงใยผู้สูญหาย ทั้งนี้ได้กำชับให้ขร. และรฟท.เร่งหาสาเหตุที่แท้จริง เร่งดำเนินการตักดินที่ถล่ม พร้อมเร่งค้นหาผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถเพื่อป้องกันการสูญเสียซ้ำซ้อนและได้กำชับให้ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทุกแห่งให้มีความปลอดภัยสูงสุดด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามในพื้นที่อาจมีฝนตกเพิ่มเติมจึงมอบหมายให้ รฟท. พิจารณาขุดร่องน้ำบริเวณข้าง ๆ อุโมงค์ พร้อมทั้งนำผ้าใบมาปกคลุมหลังอุโมงค์คลองไผ่ดังกล่าว เพื่อลดปริมาณน้ำซึมเข้าสู่ดินเพิ่มเติม ที่อาจส่งผลให้เกิดดินถล่มเพิ่มเติมอีกได้