ปภ.ประสาน 10 จว.ภาคกลาง-กทม.เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

03 ก.ย. 2567 | 13:05 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2567 | 13:22 น.

ปภ.ประสาน 10 จังหวัดภาคกลางและกทม.เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านผู้ว่าฯชัชชาติ ลงพื้นที่ตรวจแนวคันกั้น จัดกระสอบทรายอุดจุดฟันหลอ พร้อมรับมวลน้ำเหนือก้อนแรก

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2567 เป็นต้นไป 

 

ทั้งนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

นายไชยวัฒน์  จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปภ. ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในช่วงวันที่ 3 – 9 กันยายน 2567 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ 

 

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1 - 7 วันข้างหน้า พบว่าปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในวันที่ 9 กันยายน 2567 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา ประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

ปภ.ประสาน 10 จังหวัดภาคกลางและกทม.เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,400 – 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.25 - 0.40 เมตร และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2567 เป็นต้นไป 
 

กทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยา เตรียมพร้อมรับน้ำเหนือ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่บริเวณวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ ซึ่งเป็นรอยต่อกับ จ.นนทบุรี โดยได้ทำการตรวจแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเตรียมรับมวลน้ำเหนือก้อนแรก ซึ่งข้อมูลในวันที่ 2 ก.ย. 67 ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 25 ซม. ทำให้น้ำสูงสุดขึ้นมาเป็น 1.75 ม.รทก. ขึ้นจากวันที่ 1 ก.ย. คือ 1.50 ม.รทก. แต่แนวคันสูง 3.5 เมตร ยังสูงพอรับน้ำได้อีกมากแต่ยังประมาทไม่ได้

กทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยา เตรียมพร้อมรับน้ำเหนือ

“แนวเขื่อนต้องลงไปดูทุกจุดไม่ให้มีฟันหลอ จุดนิดเดียวหากน้ำเข้าได้ก็จะมีปัญหา ไม่ต้องกังวลแต่ห้ามประมาทเพราะน้ำยังไม่เยอะมากยังห่างกับปี 54 สิ่งที่กังวลคือน้ำฝนมากกว่า เพราะช่วงนี้ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน กทม. สถานการณ์ตอนนี้จึงได้สั่งการให้เร่งพร่องน้ำในคลองพร้อมเตรียมรับมือไม่ต่างกับน้ำเหนือ”