อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อนกำลังแรงกระท้อน-พายุโซนร้อนเชบี

29 ก.ย. 2567 | 03:24 น.
อัพเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2567 | 04:00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อนกระท้อน-เชบี พร้อมเตือนคนไทยบินไปไต้หวันตรวจสอบสภาพอากาศและวางแผนการเดินทาง

วันที่ 29 กันยายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก โดยมีพายุอยู่ 2 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนกำลังแรง "กระท้อน(KRATHON)" และพายุโซนร้อน "เชบี (JEBI)" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ลูกที่ 1 พายุโซนร้อนกำลังแรงกระท้อน (KRATHON)

  • ชื่อของพายุ "กระท้อน (KRATHON)" หมายถึงชื่อผลไม้ชนิดหนึ่ง ตั้งชื่อโดยประเทศไทย เป็นพายุลูกที่ 18 (RSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น) ศูนย์กลางยังอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ เนื่องจากยังอยู่ในทะเลที่อุ่น แต่ทิศทางการเคลื่อนตัวจะไปทางเกาะไต้หวัน และโค้งกลับไปทางประเทศญี่ปุ่น 

 

ลูกที่ 2 พายุโซนร้อน "เชบี (JEBI)"

  • พายุเชบี หรือ พายุลูกที่ 17 พายุลูกนี้อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก (อยู่ห่างมาก) ทิศทางการเคลื่อนตัวยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก 

กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตเส้นทางพายุโซนร้อนกระท้อน-เชบี

 

สำหรับพายุทั้ง 2 ลูก ไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยและไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปเกาะไต้หวัน ช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. 67 ตรวจสอบสภาพอากาศและวางแผนก่อนออกเดินทาง
 

อนึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 3 เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบในช่วงวันที่ 29 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567


ในช่วงวันที่ 29 ก.ย. - 3 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก

 

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นได้ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักบางแห่งและมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน

 

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
 

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 29 กันยายน 2567 

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม

วันที่ 30 กันยายน - 1 ตุลาคม 2567 

  • ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 2 - 3 ตุลาคม 2567 

  • ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
  • ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร

 

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น.