นายภาคภูมิ เกรียงโกมล หัวหน้าทีมโรโบติกส์ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) เปิดเผยว่า ARV ร่วมมือกับสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง ในการนำเทคโนโลยีอากาศยานอัตโนมัติไร้คนขับ ภายใต้ชื่อ “ฮอรัส” (HORRUS) ที่พัฒนาขึ้นโดย ARV ลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบและวิเคราะห์ทางหลวงที่ประสบอุทกภัย ระหว่างวันที่ 25 - 30 ส.ค. 2567 ณ จังหวัดเชียงราย
เพื่อประเมินความเสียหายในพื้นที่เข้าถึงยาก ซึ่งพบจุดเสี่ยง 17 แห่ง ที่เกิดปัญหาดินถล่ม การทรุดตัวของทางหลวง และสะพานชำรุด เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนซ่อมแซมทางหลวง และช่วยเหลือประชาชนให้กลับมาสัญจรได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ฮอรัส เป็นโดรนอัตโนมัติไร้คนขับ ที่ออกแบบมาเพื่อปฏิบัติงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 นาทีต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง โดยสามารถกลับสู่สถานีชาร์จเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจครั้งต่อไปได้อย่างอัตโนมัติ เทคโนโลยีนี้สามารถส่งข้อมูลภาพถ่ายและวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K 30fps ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านระบบสื่อสารไร้สาย เพื่อนำไปวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ฮอรัสยังสามารถควบคุมการบินได้จากระยะไกลที่รัศมี 7 กิโลเมตรจากสถานีชาร์จ อีกทั้งยังสามารถใช้งานผสานเทคโนโลยีที่สำคัญ Segment Anything Model (SAM) และเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มี เพื่อช่วยในการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความตั้งใจของ ARV ที่ต้องการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาใช้เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดด้านการสำรวจตรวจสอบและวิเคราะห์เส้นทางหลวงให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนสำหรับภารกิจในครั้งนี้
ภารกิจหลักของ “ฮอรัส” ทำหน้าที่สำรวจตรวจสอบเส้นทางหลวงในพื้นที่เข้าถึงยากและพื้นที่ที่ถูกทำลายด้วยกระแสน้ำ เพื่อประเมินความเสียหายของสภาพเส้นทางและวิเคราะห์การปรับเปลี่ยนของกระแสน้ำให้กับสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง เพื่อนำข้อมูลไปต่อยอดการวางแผนในการซ่อมแซมเส้นทาง และปรับเปลี่ยนการเดินทางได้ทันเวลา
เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปสัญจรได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย นอกจากนี้ยังนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์หาแนวโน้มที่มีโอกาสเกิดดินถล่มซ้ำ ก่อนนำ "รถขุด" หรือ "เครื่องจักรกลหนัก" ของหน่วยงานรัฐเข้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างปลอดภัย
โดยผลการปฏิบัติงานของฮอรัส ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่าความเสียหายทั้งสิ้น 17 แห่ง จำแนกตามประเภทความเสียหาย ได้แก่ ดินถล่ม 8 แห่ง การทรุดตัวของเส้นทางหลวง 6 แห่ง และสะพานชำรุด 3 แห่ง ภายใน 1 สัปดาห์ เป็นระยะการบินรวม 86.72 กิโลเมตร รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 4 ชั่วโมง 44 นาที
และจากความสามารถของ Horrus ที่ส่งข้อมูลได้อย่างเรียลไทม์ ช่วยให้เจ้าหน้าที่เห็นสถานการณ์จริง สามารถระบุตำแหน่งและจัดส่งทีมช่วยเหลือไปยังพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ARV มีแผนงานร่วมกับสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง ขยายการใช้งาน “Horrus” ในการตรวจสอบและซ่อมแซมทางหลวง ในกรณีเกิดภัยพิบัติอื่น ๆ พร้อมกับการใช้ AI เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการวางแผนในอนาคต ซึ่ง Horrus จะช่วยตรวจสอบความเสียหายได้โดยไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่เสี่ยง
ประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและซ่อมแซม อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของ Horrus จะช่วยให้สำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวงสามารถวิเคราะห์และวางแผนเชิงกลยุทธ์ ในการบริหารจัดการทางหลวงและโครงสร้างพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งผลลัพธ์ที่ได้ในระยะยาว ยังจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุและการป้องกันความเสียหายของทางหลวง และลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและรักษาโครงสร้างพื้นฐานได้อีกด้วย