"พายุมิลตัน" เฮอริเคนแบ่งประเภทอย่างไร ทำไมไม่มีระดับ 6

10 ต.ค. 2567 | 05:36 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2567 | 05:37 น.

พายุมิลตัน เป็นเฮอริเคน ซึ่งมีแรงกระตุ้นจากน้ำทะเลที่อุ่น อาจจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันอีกครั้งว่า พายุเฮอริเคนแบ่งประเภทอย่างไร และเหตุใดจึงหยุดอยู่ที่ระดับ 5

เพียงไม่กี่วัน พายุเฮอริเคน “มิลตัน” เป็นหนึ่งในพายุที่สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ เจ้าหน้าที่ และประชาชนชาวฟลอริดามากที่สุด เนื่องจากเพิ่งก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนในวันที่ 5 ต.ค. เพียง 1 วัน กลับกลายเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 5 ได้อย่างรวดเร็ว

ภาพถนนที่ถูกน้ำท่วมจากคลื่นพายุที่เกิดจากพายุเฮอริเคนมิลตันในลีเคาน์ตี้ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2024

ล่าสุดเฮอริเคน มิลตัน อ่อนกำลังลงมาเป็นพายุระดับ 3 เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่เมืองซาราโซตา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา แล้ว ในคืนวันพุธที่ 9 ต.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น ขณะมีความเร็วลมสูงสุด 120 ม./ชม. (193 กม./ชม.)
 

 

เฮอริเคนมิลตันเป็นพายุลูกที่ 5 

มิลตันเป็นเฮอริเคนลูกที่ 5 ที่เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งสหรัฐฯ ในปีนี้ ต่อจาก เฮอริเคนระดับ 1 เบริล และ เด็บบี, เฮอริเคนระดับ 2 ฟรานซีน และลูกล่าสุดคือ เฮอริเคนระดับ 4 เฮลีน ทำให้ปีนี้สหรัฐฯ มีพายุขึ้นฝั่งมากกว่าปี 2564-2566 รวมกัน

ผู้หญิงคนหนึ่งถือร่มขณะมาถึงศูนย์พักพิงขณะที่พายุเฮอริเคนมิลตันกำลังเข้าใกล้ ในเมืองเลคแลนด์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา วันที่ 9 ตุลาคม 2024

ความรุนแรงของพายุครั้งนี้เกิดจากน้ำทะเลในอ่าวเม็กซิโกที่อุ่นขึ้นผิดปกติ ซึ่งในปี 2567 มีอุณหภูมิเกือบแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ น้ำอุ่นจะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างรวดเร็ว และลมอุ่นชื้นที่พัดขึ้นสูงทำให้พายุเฮอริเคนมีพลังงานทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความร้อนนี้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตอย่างรวดเร็วของมิลตัน ทำให้พายุมีอันตรายมากขึ้น

มาตราวัดลมพายุเฮอริเคน

มาตราวัดระดับพายุของ แซฟเฟอร์-ซิมป์สัน เป็นระบบการให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 5 โดยอิงตามความเร็วลมต่อเนื่องของพายุเฮอริเคน ซึ่งใช้ในการประมาณความเสียหายต่อทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้น

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลสรุปโดยย่อเกี่ยวกับ ลักษณะของพายุเฮอริเคนแต่ละประเภท

ความรุนแรงของพายุ ระดับ 1

  • ความเร็วลม 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ความสูงของคลื่น 1.2-1.5 เมตร
  • ความกดอากาศ 980 มิลลิบาร์ อ
  • ทำลายล้าง เล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อสิ่งก่อสร้าง
  • น้ำท่วมตามชายฝั่ง ท่าเรือเสียหายเล็กน้อย

ความรุนแรงของพายุ ระดับ 2

  • ความเร็วลม 154-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ความสูงของคลื่น 1.8-2.4 เมตร ความกดอากาศ 965-979 มิลลิบาร์
  • ทำลายล้าง น้อย
  • ก่อให้เกิดน้ำท่วมทำลายท่าเรือ 

ความรุนแรงของพายุ ระดับ 3

  • ความเร็วลม 178-209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ความสูงของคลื่น 2.7-3.7 เมตร
  • ความกดอากาศ 945-964 มิลลิบาร์
  • ทำลายล้าง ปานกลาง
  • โครงสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก 
  • อาจเกิดน้ำท่วมขังเข้ามาถึงพื้นดินส่วนใน

ความรุนแรงของพายุ ระดับ 4

  • ความเร็วลม 210-249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ความสูงของคลื่น 4.0-5.5 เมตร
  • ความกดอากาศ 944-920 มิลลิบาร์
  • ทำลายล้าง สูง
  • แผงป้องกันพายุเสียหายหนักยิ่งขึ้น หลังคาบ้านเรือนบางแห่งถูกทำลาย
  • น้ำท่วมเข้ามาถึงพื้นดินส่วนใน

ความรุนแรงของพายุ ระดับ 5

  • ความเร็วลม ไม่น้อยกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ความสูงของคลื่นไม่น้อยกว่า 5.5 เมตร
  • ความกดอากาศ น้อยกว่า 920 มิลลิบาร์
  • ทำลายล้าง สูง
  • หลังคาบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรมถูกทำลาย ตึกบางแห่งอาจถูกพัดถล่ม
  • น้ำท่วมขังปริมาณมาก
  • อาจต้องมีการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ทำการอพยพโดยด่วน

ภาพเสาไฟฟ้าหักโค่นจากลมกระโชกแรงขณะพายุเฮอริเคนมิลตันเข้าใกล้ฟอร์ตไมเออร์ส รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2024 REUTERS

ทำไมไม่มีระดับ 6 

ไม่มีพายุเฮอริเคนระดับ 6 เนื่องจากพายุระดับ 5 ถือเป็นเกณฑ์ที่ความเร็วลมเพิ่มเติมจะไม่เพิ่มโอกาสที่โครงสร้างพื้นฐานจะได้รับความเสียหายมากนัก เนื่องจากการทำลายล้างใกล้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว

การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปีนี้ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า ภาวะโลกร้อนกำลังทำให้พายุไซโคลนที่รุนแรงที่สุดบางลูกทวีความรุนแรงมากขึ้น

ผู้เขียนเสนอแนะว่าพายุระดับ 5 อาจประเมินอันตรายจากพายุเหล่านี้ต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรและบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้นมีส่วนทำให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้น

คณะผู้จัดทำผลการศึกษากล่าวกับ CBS News ในขณะนั้นว่า ทีมของเขาได้ทำการวัดพายุหลายลูกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จัดอยู่ในกลุ่มพายุระดับ 6 ซึ่งรวมถึง "ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน" หนึ่งในพายุที่เลวร้ายที่สุดของเอเชีย ปี 2013 เป็นหนึ่งในพายุที่สร้างความเสียหายหนักสุดในฟิลิปปินส์ พัดด้วยความเร็วลมสูงสุด 1 นาทีที่ 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 6,300 ราย

สร้างความเสียหายคิดเป็นเงิน 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 14 ล้านคนทั่วประเทศฟิลิปปินส์ และทำให้เมืองทาโกลบันของฟิลิปปินส์เสียหายถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลังจากฟิลิปปินส์ พายุลูกดังกล่าวก็ยังเคลื่อนตัวไปสร้างความเสียหายต่อที่เวียดนามและจีนด้วย

อ้างอิงข้อมูล