วันที่ 6 ตุลาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามฮอกกี้น้ำแข็ง Thailand International Ice Hockey Arena เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งกระชับมิตร ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทย
จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบ 75 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยที่มีมาอย่างยาวนาน
โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา และนายกสมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งแห่งประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือพระมหากษัตริย์นักกีฬาแห่งแผ่นดิน ฉบับภาษาอังกฤษ หนังสือประเทศไทยกับการพัฒนากีฬาไอซ์ฮอกกี้ และของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จากนั้น ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, ภริยาเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล, เลขาธิการสมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งแห่งประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือพระมหากษัตริย์นักกีฬาแห่งแผ่นดิน ฉบับภาษาไทย และของที่ระลึก
นายลุค ทาร์ดิฟ ประธานสหพันธ์ฮอกกี้น้ำแข็งนานาชาติ (International Ice Hockey Federation) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโล่สัญลักษณ์ทูตกีฬาไอซ์ฮอกกี้หญิงกิตติมศักดิ์คนแรกของสหพันธ์กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งนานาชาติ พร้อมใบประกาศแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยประจักษ์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านกีฬาไอซ์ฮอกกี้ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
โดยเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสนามฮอกกี้น้ำแข็ง ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนลไอซ์ ฮอกกี้ อารีนา เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ทรงร่วมการแข่งขันในนัดเปิดสนามครั้งนั้น โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 พีเรียด (Period) พีเรียดละ 15 นาที พัก 10 นาที ใช้เวลาการแข่งขันฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที ทรงสร้างความประทับใจ และทรงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักกีฬาหญิงจำนวนมาก รวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างแก่นักกีฬาในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก
จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดง Thai Contemporary Dance ซึ่งการแสดงดังกล่าว มีการผสมผสานกีฬาไอซ์สเก็ต กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการแสดง เพื่อเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นประเทศอะไร โดยราชอาณาจักรไทยใช้พญานาคเป็นสัญลักษณ์ ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์
ราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญในการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายครั้ง มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำทั้งสองประเทศ
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงรับนาย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคู่สมรส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 29 ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและราบรื่น โดยในปี 2568 จะครบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และราชอาณาจักรไทย