นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.จะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณปกติ ซึ่งปัจจุบันสบน. ได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณแล้ว 4.4 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณนี้ ยังมีกรอบวงเงินเหลืออยู่ 2.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับการระดมทุนผ่านเครื่องมือพันธบัตรออมทรัพย์นั้น การเปิดจำหน่ายครั้งนี้ จะเป็นรอบสุดท้ายในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งสบน. ได้ปรับลดกรอบวงเงินระดมทุนผ่านพันธบัตรออมทรัพย์ จาก 1 แสนล้านบาท เหลือ 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสถานะเงินคงคลังของรัฐมีเพียงพอและเหมาะสมแล้ว
ทั้งนี้ การออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นนี้ จะเริ่มเปิดขายตั้งแต่ 13 ส.ค.เป็นต้นไป ให้อัตราดอกเบี้ย ได้แก่ รุ่นอายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.00%ต่อปี ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.40%ต่อปี ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุด เพราะหลังจากนี้ 5 ปี จะเห็นอัตราดังกล่าวได้น้อย เนื่องจากประเมินว่าในระยะต่อไปแนวโน้มดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง
“เราประเมินว่า ภายในปีนี้จะมีการลดดอกเบี้ยลงอย่างแน่นอน ทั้งในต่างประเทศ อาทิ ยุโรป ส่วนสหรัฐอเมริกา ก็อยู่ระหว่างรอสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งห้วงเวลานี้อัตราดอกเบี้ยที่สบน.ออกมายังเป็นเรทที่น่าสนใจ และเราได้ประเมินภาพรวมของตลาดแล้ว การออกพันธบัตรช่วงนี้ถือว่ามีความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ประชาชนออมเงินด้วย”
สำหรับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ แบ่งเป็น การจำหน่ายให้กับประชาชน ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป วงเงิน 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รุ่นอายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.40% ต่อปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) โดยเปิดจำหน่ายผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่
ทั้งนี้ เปิดจองซื้อตั้งแต่วันที่ 19-21 ส.ค. 2567 จัดสรรแบบ Small lot first (การยอยจัดสรร) โดยทวีคูณรอบละ 1,000 บาท ซึ่งลำดับในการจองซื้อก่อน-หลัง ไม่มีผลต่อการจัดสรร และในกรณีที่วงเงินพันธบัตรที่จะจัดสรรในรอบสุดท้ายไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ผู้ซื้อทุกราย ระบบคอมพิวเตอร์จะจัดสรรพันธบัตรในรอบสุดท้ายด้วยวิธีการสุ่ม (Random) จนครบวงเงินจำหน่าย
ขณะเดียวกัน ผู้จองซื้อจะทราบผลการจัดสรรพันธบัตรและได้รับเงินคืน กรณีที่ไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตร หรือได้รับจัดสรรไม่ครบตามวงเงินจองซื้อ ในวันที่ 22 ส.ค. 2567 โดยจำหน่ายผ่าน 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นอกจากนั้น สบน.จะเปิดจำหน่ายให้กับนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งมีเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3% ต่อปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน) วงเงินขั้นต่ำ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท) โดยจะเปิดจำหน่ายวันที่ 26-27 ส.ค. 2567
สำหรับผู้มีสิทธิ์ซื้อ ได้แก่ สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร ซึ่งจะเปิดจำหน่ายผ่าน 6 ธนาคาร ดังที่กล่าวมาข้างต้น
นายพชรกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลได้เพิ่มงบกลางปี 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท จะกระทบแผนการบริหารหนี้หรือไม่นั้น นายพชร กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่มีผลต่อการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งขณะนี้การบริหารหนี้ยังอยู่ในวิสัย หลักเกณฑ์การบริหารหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งหมด ซึ่งไม่มีเรื่องที่ต้องกังวลเกี่ยวกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพราะยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ขณะเดียวกัน สัดส่วนการจ่ายชำระหนี้ก็อยู่ในหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ทุกประการ
ขณะที่การจัดทำแผนการบริหารหนี้ในปีงบประมาณ 2568นั้น สบน.จะต้องต้องทำแผนบริหารหนี้ เสนอคณะกรรมการนโยบายบริหารหนี้สาธารณะก่อน จึงจะเสนอคณะรัฐมนตรี และในปีงบประมาณดังกล่าว จะต้องทำโครงการจัดหมวดหมู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 หมวด โดยเป็นโครงการอยู่ภายใต้แผนบริหารหนี้ และโครงการใช้เงินกู้ เพื่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางคาร์บอน
ส่วนกรณีที่การชำระหนี้กองทุนน้ำมัน ที่ให้สบน. เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้ จะครบกำหนดชำระในช่วงพ.ย.67 นี้ ยืนยันว่า การชำระหนี้ของกองทุนน้ำมัน ไม่มีผลต่อเครดิตความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลค้ำประประกันบางส่วนที่กองทุนกู้เงินเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันกองทุนได้ให้สบน. ค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 105,333 ล้านบาท
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,014 วันที่ 1-3 สิงหาคม พ.ศ. 2567