ในการควานหาเงินงบประมาณ เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ทำให้แค่ไม่กี่เดือน ภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อีก 152,700 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายปี 2568 เพิ่มจากกรอบวงเงิน 3.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.752 ล้านล้านบาท
ครั้งที่ 2 เป็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2567 หรืองบกลางปี อีก 1.22 แสนล้านบาท ส่งผลให้วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มจาก 3.48 ล้านล้านบาทเป็น 3.602 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 1.12 แสนล้านบาท อีก 1 หมื่นล้านบาทจะมาจากการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ส่งผลให้ประมาณการรายได้ปีงบประมาณ 2567 เพิ่มจาก 2.787 ล้านล้านบาท 2.797 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทำงบกลางปีเพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ก่อนจะสิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายน 2567 แต่แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในส่วนของการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาทนั้น ยังเหลืออีก 53,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมถึงเงินจากมาตรา 28 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 172,300 ล้านบาทที่ยังต้องรอการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
งบชำระดอกเบี้ยพุ่ง11.52%
การทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางดังกล่าว ส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสูงสุดที่ระดับ 15.04 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2571 ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ระดับ 11.52% ซึ่งสูงกว่าเพดานที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ซึ่งอ้างอิงจากเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่เทียบเท่าระดับ A- (Upper Medium Investment Grade)
ขณะเดียวกัน ยอดคงค้างหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ยังทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงสุดที่ 68.90% ในปีงบประมาณ 2570 ซึ่งใกล้จะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วงว่าอาจกระทบต่อเสถียรภาพการคลังและการจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่ใกล้จะเต็มเพดานที่ 70% จะทำให้ไม่มีช่องในการรับมือหากเกิดวิกฤติ
ก่อนหน้าธปท.ได้แสดงความเป็นห่วงว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ที่กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baa 1 (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไม่ควรเกิน 11%
นอกจากนั้น จากการประมาณการอัตราการเติบโตของจีดีพียังเห็นว่า เติบโตสูงสุดเพียง 3.2% ในปีงบประมาณ 2569 และ 2570 ทั้งที่รวมผลของโครงการดิจิทัล วอลเล็ตที่จะอัดฉีดเงินเข้าระบบ 500,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของจีดีพีไทยช่วง 4 ปีจากนี้น่าจะขยายตัวเพียง 3% ไม่ถึง 5% ตามที่รัฐบาลเพื่อไทยให้คำมั่นไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งแน่นอน
TDRI ชี้เสถียรภาพคลังเสี่ยงสูง
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า น่ากังวลใจมากที่คาดการณ์หนี้สาธารณะจะแตะ 68.9% ในปี 2570 เพราะมีส่วนต่างเหลือไม่มากนัก ซึ่งส่วนต่างเปรียบเสมือนเครดิตที่ควรเอาไว้กู้มาใช้ยามเกิดวิกฤติ แม้ว่าเพดานหนี้จะสามารถขยายออกไปได้อีก แต่การมีหนี้ที่สูงแปลว่า เราต้องจ่ายดอกเบี้ยของเงินที่กู้มาสูงตามไปด้วย ทำให้สูญเสียโอกาสที่จำนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศ
ส่วนแผนระยะกลางทางการคลัง มีเป้าหมายคือ การลดระดับหนี้สาธารณะลง เพื่อให้ฐานะการคลังมีเสถียรภาพ แต่แผนใหม่นี้ คือ การยืดเวลาการลดหนี้ออกไปอีก เรียกได้ว่า เป็นการเน้นกระตุ้นในระยะสั้น ปรับแผนระยะปานกลางในการกลับคืนสู่สมดุลให้ยาวนานขึ้น ทำให้เสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลางแย่ลง
“สิ่งที่น่ากังวลใจคือ การกระทำในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาลนี้ แต่เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงหลังที่เราเสียความน่าเชื่อถือทางการคลัง ผลที่ตามาเบาๆ ก็แค่ดอกเบี้ยที่ภาครัฐจ่าย เพื่อกู้เงินมาใช้จะแพงขึ้น แต่ถ้าใช้เงินแบบไม่มีความรับผิดชอบมากๆ ก็เสี่ยงที่ต่างชาติจะไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจ ไม่เชื่อมั่นในเงินบาท ที่นี้จะยุ่งกันใหญ่” นายนณริฏกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า รัฐบาลควรมีแนวทางและมาตรการลดการกระตุ้นระยะสั้น เร่งวางแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว วางแผนลดรายจ่ายภาครัฐ ปฏิรูประบบภาษี วางเป้าหมายลดระดับหนี้สาธารณะในระยะยาวให้กลับมาตํ่ากว่า 60% เพื่อบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เชื่อจีดีพีไทยไปไม่ถึง5%แน่
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมืองให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประมาณการเติบโตของจีดีพีต่อปีในแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ทำได้สูงสุดอยู่ที่ 3.2% ใน 2 ปีสวนทางกับนโยบายที่ได้ประกาศไว้ที่ 5% ส่วนหนึ่ง เพราะรัฐบาลเองประเมินภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะขยายตัวช้า
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณมากกว่าเก่าใน 2ปี เพื่อพยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้จากแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“แนวโน้มเป้าหมายจีดีพีที่คาดไว้ 5%นั้นไปไม่ถึง มองว่า เป็นโจทย์ท้าทายเห็นได้จากตัวเลขจีดีพีขยับเป็น 3.0% ในปี2568 หลังจากมีการเบิกจ่ายงบประมาณและบวกมาตรการดิจิทัล วอลเล็ตแล้ว”รศ.ดร.สมชายกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมางบประมาณที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้นถือว่า เป็นการให้งบประมาณที่ค่อนข้างน้อยมาก และงบประมาณรายจ่ายประจำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีจะเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยในอนาคต ขณะที่กฎหมายบังคับงบลงทุน สัดส่วน 20% นั้น ถือว่าอยู่ที่พื้นแล้ว แผนดังกล่าวน่าจะมีการทบทวนในรายละเอียดได้อีก
สบน.ยังให้ความเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณ เพื่อชำระต้นเงินกู้เฉพาะของหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้น ไม่ควรตํ่ากว่า 3% เพื่อรองรับปัจจัยนอกเหนืออำนาจควบคุมของสบน.ที่ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลและระดับความน่าเชื่อถือของประเทศ หากสามารถผลักดันตามข้อสังเกตได้ การบริหารหนี้สาธารณะจะมีความเข้มแข็ง โดยยังคงสามารถรักษาระดับความน่าเชื่อถือของประเทศและช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังได้อย่างยั่งยืน
ชี้แผนการคลังปานกลางจำเป็น
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังกล่าวว่า การปรับแผนการคลังระยะปานกลางมีความจำเป็น เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตํ่ากว่าเป้าหมายเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ขณะที่รัฐจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ และ มีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินสนับสนุนนโยบายและมาตรการต่างๆในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
การมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของรัฐบาลสะท้อนถึงความจำเป็นในการเพิ่มการขยายตัวของจีดีพี การขยายตัวของรายได้ประชาชาติเพื่อเก็บภาษีเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในรูปตัว K จึงต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติม ปฏิรูปและปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจเพื่อหารายได้เพิ่มจากประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่สูงขึ้น
สำหรับประมาณการจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 3%ถือได้ว่าเป็นการประมาณการแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งก็ดีทำให้เกิดการระมัดระวังปัญหาความเสี่ยงฐานะการคลังในอนาคต แต่หากสามารถบริหารนโยบายเศรษฐกิจได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ 4-5% แหล่งของการเติบโตใหม่ New source of economic growth ต้องอาศัยการลงทุนใหม่ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยทำให้ ไทยเติบโตตํ่ามากว่า 2 ทศวรรษ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,997 วันที่ 2 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2567