“ดอน”เฮ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ชี้ยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ระบุยังไม่มีมูลเหตุก่อความเสียหายต่อการบริหารราชการ นัดออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานเพิ่ม 3 ปากคือกกต.-บริษัทปานะวงศ์ 25 ก.ย.นี้
วันนี้( 29 ส.ค.61 )ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรี ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(5) ประกอบมาตรา 187 และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษา พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงของนายดอนและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่าในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใด จึงยังไม่มีเหตุอันควรสงสัย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้นายดอนหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง ประกอบมาตรา 179 วรรคสาม โดยที่คดียังมีปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่กรณีตั้งประเด็นโต้แย้งกันอยู่ จึงกำหนดออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยาน 3 ปาก คือ ผู้แทน กกต. ซึ่งเป็นผู้ร้อง ผู้แทนบริษัทปานะวงศ์ จำกัด ผู้แทนบริษัทปานะวงศ์รีเอลทรี ที่กกต.ตรวจสอบพบว่า นางนารีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยาของนายดอน ถือครองหุ้นอยู่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการแจ้งต่อป.ป.ช.ภายในกำหนดเวลา โดยนัดไต่สวนในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 60 ขอให้ กกต.ตรวจสอบการถือครองหุ้นสัมปทานของ 9 รัฐมนตรี ที่ประกอบไปด้วย นายดอน รมว.การต่างประเทศ, นายอดิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง, นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลฯ, นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในขณะนั้น, ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ ในขณะนั้น, พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ในขณะนั้น หลังรัฐธรรมนูญ 60 มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย.60 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็น รมต.ต้องสิ้นสุดหรือไม่
ต่อมากกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นตรวจสอบและรายงานว่า คณะอนุกรรมการได้เสนอรายงานผลการตรวจสอบต่อ กกต.ว่าการถือครองหุ้นของ รมต. 8 คนนั้นไม่มีปัญหา เห็นควรที่ กกต.จะยุติเรื่อง มีเพียงของนายดอน ที่อาจมีปัญหาขัด รธน. เนื่องจากคู่สมรสถือครองหุ้นในธุรกิจอยู่เกินกว่าร้อยละ 5 และไม่มีการแจ้งต่อ ป.ป.ช.ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งที่ประชุม กกต.ก็ได้มีมติตามที่อนุกรรมการตรวจสอบเสนอให้ยุติเรื่องในส่วนของ 8 รมต.
ขณะที่ในส่วนของนายดอนนั้น ที่ประชุมมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย และที่สุดก็ได้มีการลงมติ ซึ่งในชั้นแรกผลการลงมติออกมาเท่ากัน 2 ต่อ 2 ทำให้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ออกเสียงชี้ขาดอีก 1 เสียง จึงกลายเป็นมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ว่า การถือครองหุ้นของ นายดอน เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 ที่บัญญัติ ไม่ให้รัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือในกรณีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นที่ถือครองให้แจ้งประธานป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและให้โอนหุ้น จนอาจเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 และให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย