คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารธุรกิจจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563
บาทแข็งหยวนอ่อนและเศรษฐกิจจีนตกตํ่า เป็นโอกาสทองให้นักลงทุนไทยที่สนใจกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ มาจับตาดูตลาดหุ้นจีน หุ้นจีนผันผวนสูง แต่ก็ให้ทางเลือกการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมมาก ตลอดจนยังมีบริษัทชั้นนำที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองและมีการเติบโตในเชิงโครงสร้างอยู่อีกมาก แต่ก่อนอื่นควรทำความรู้จักโครงสร้างและลักษณะเฉพาะตัวของตลาดหุ้นจีนโดยละเอียดก่อน ในบทความครั้งนี้ขออธิบายถึงโครงสร้างเป็นหลัก
หุ้น เอ แชร์ - บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีนเรียกรวมง่ายๆ ว่า “เอ แชร์” (ถึงแม้ในทางเทคนิคมีหุ้นอีกกลุ่มคือ “บี แชร์” ที่ซื้อขายเป็นสกุลเงินต่างประเทศสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครสนใจแล้ว เพราะมีตลาดหุ้นฮ่องกงทำหน้าที่นี้ได้) โดยแบ่งเป็นกระดานหุ้น 4 ประเภทคือ
1) กระดานหลัก (Main Board) มีจำนวนหุ้นรวมกันประมาณกว่า 2,000 ตัว ส่วนมากเป็นหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเก่า อาทิ ธนาคาร บริษัทพลังงาน บริษัทโทรคมนาคม เป็นต้น
2) กระดานหุ้น SMEs มีหุ้นกว่า 900 ตัว 3) กระดานหุ้น Growth Enterprise Market มีหุ้นประมาณ 800 ตัว เป็นหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีการเติบโตสูง อาทิ กลุ่มไอที กลุ่ม healthcare และกลุ่มการบริโภคการบริการ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาหุ้นกระดานนี้มีความผันผวนสูงมาก มีมูลค่าหุ้นแพงริบ และมีทิศทางสวนกับหุ้นกระดานหลัก
และ 4) กระดานใหม่ล่าสุดที่เพิ่งจัดตั้งในปีที่แล้ว ภายใต้กระแสสงครามการค้าและเทคโนโลยี มีลักษณะคล้ายกับตลาด Nasdaq ได้แก่ กระดานหุ้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ Star Board จำนวนหุ้นยังน้อยอยู่เพียง 72 ตัว แต่อยู่ระหว่างเข้าคิวขอ IPO อีกหลายร้อยตัว หุ้นกระดานนี้สามารถให้บริษัทเทคโนโลยีที่ยังไม่มีกำไร สามารถเข้ามาจดทะเบียนได้ แต่มีข้อพิจารณาที่สำคัญคือต้องมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง ไม่ใช่เพียงโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง ทุกกระดานรวมกันแล้วมีจำนวนหุ้นเกือบ 4,000 หุ้น
หุ้นจีนนอกจีน - มีบริษัทจีนจำนวนหนึ่งที่จดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ อาทิ H-shares, Red-chips, P-chips เป็นต้น สรุปง่ายๆ คือหุ้น H-shares เป็นหุ้นที่จดทะเบียนบริษัท (incorporated) ในประเทศจีน และมาจดทะเบียนหุ้น (listed) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และที่เหลือเป็นบริษัทจีนที่จดทะเบียนบริษัทนอกประเทศจีนในรูปแบบต่างๆ ที่จดทะเบียนหุ้นในตลาดฮ่องกง อาทิ หุ้น Alibaba และ Tencent เป็นต้น หุ้นจีนที่ฮ่องกงมีรวมกันประมาณ 400-500 ตัวเห็นจะได้
นอกจากนี้ ยังมีหุ้นจีนที่ตลาดหุ้น Nasdaq อีกกว่า 150 ตัว โดยมากเป็นหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ สุดท้ายยังมีหุ้นจีนจำนวนหนึ่งในสิงคโปร์ และประปรายในตลาดอื่น ๆ แต่มักไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเพราะมีกรณีที่ทำให้นักลงทุนเสียเปรียบในอดีตหลายราย ตลอดจนมีข้อสงสัยในคุณภาพของบริษัทจีนที่ไปจดทะเบียนถึงที่เหล่านั้น
จุดเหมือนจุดต่าง - กลุ่มอุตสาหกรรมมีความแตกต่างกันพอสมควรระหว่างหุ้นเอ แชร์ (รวมทุกกระดาน) กับหุ้นจีนที่ตลาดฮ่องกงและตลาด Nasdaq โดยที่จำนวนหุ้นของเอ แชร์มีมากกว่ามาก จึงทำให้ตลาดหุ้นเอแชร์มีตัวเลือกเรื่องอุตสาหกรรมได้หลากหลายกว่า โดยรวมๆ แล้วอุตสาหกรรมมีเฉพาะตลาดเอ แชร์หรือตลาดเอ แชร์มีให้เลือกมากกว่ามาก ได้แก่
กลุ่มเหล้าขาว อาทิ หุ้น Moutai ที่ราคาทะยานไปเกินพันหยวน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามอง อันเป็นผลจากสงครามการค้า กลุ่มป้องกันประเทศ กลุ่มอุปกรณ์ไฮเทค กลุ่ม healthcare เป็นต้น แต่ก็มีหุ้นกลุ่มที่มีเฉพาะในตลาดข้างนอกเช่นเดียวกัน อาทิหุ้น Alibaba และ Tencent ไม่มีให้เลือกในตลาดเอแชร์ หรือกลุ่มการศึกษา เป็นต้น
ในเวลาเดียวกัน ก็มีบริษัทที่จดทะเบียนทั้ง 2 ตลาด เรียกว่า A/H dual-listed stocks ซึ่งถึงแม้เป็นบริษัทเดียวกัน มีผู้บริหารคนเดียวกัน งบการเงินชุดเดียวกัน แต่กลับมีมูลค่าหุ้นที่ต่างกันมาก หลายๆ หุ้นต่างกันเป็นเท่าตัว และก็มีทั้งที่ตลาดเอแชร์ให้มูลค่าแพงกว่า และที่ตลาดฮ่องกงให้มูลค่าแพงกว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างในด้านราคานี้ สะท้อนถึงมุมมองของนักลงทุน 2 ฝั่งที่ต่างกัน ตลอดจนสภาพคล่องเฉพาะหุ้นที่ต่างกันด้วย ทั้งนี้ ตลาดหุ้นเอ แชร์มีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยสูงถึงกว่า 2 ใน 3 ของมูลค่าการซื้อขาย แต่ตลาดหุ้นฮ่องกงมีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันเป็นส่วนใหญ่
ลงทุนหุ้นจีนที่ไหนดี - นักลงทุนรายย่อยต่างชาติมีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นเอ แชร์โดยตรง เนื่องจากประเทศจีนมีบัญชีทุนเป็นระบบปิด นักลงทุนซื้อหุ้นเอ แชร์ได้เฉพาะที่อยู่ในโครงการ Stock Connect ที่รัฐบาลเริ่มในปี ค.ศ. 2014 แต่ถึงกระนั้น ก็มีหลายร้อยหุ้นให้เลือกแล้ว
ส่วนการลงทุนในหุ้นจีนที่อยู่นอกแผ่นดินใหญ่ สามารถทำได้โดยเสรีอยู่แล้วหากเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศ ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาว่าจะลงทุนหุ้นจีนฝั่งไหนโดยมีปัจจัย ดังนี้
1) กลุ่มหุ้นเอ แชร์ที่สนใจมีตัวเลือกในตลาดข้างนอกหรือไม่
2) ถึงแม้มีตัวเลือกในตลาดข้างนอก มูลค่าหุ้นและสภาพคล่องของฝั่งใดน่าดึงดูดใจกว่า
และ 3) แนวโน้มค่าเงินหยวนสำหรับการลงทุนหุ้นเอ แชร์ อีกช่องทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนรายย่อยในการเข้าถึงหุ้นจีนคือการซื้อกองทุนหุ้น ซึ่งก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่อิงกับดัชนีตลาดหลักจนไปถึงกองทุนรายอุตสาหกรรมหรือกองทุนในลักษณะ thematic
เกี่ยวกับผู้เขียน : มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารธุรกิจจีน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน และการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา
หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut