ฉะรัฐบาลจัด “งบ64” หญิงหน่อย ซัด ไม่รองรับสึนามิเศรษฐกิจ

30 มิ.ย. 2563 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2563 | 11:13 น.

ฝ่ายค้านจัด 120 ขุนพลชำแหละ “งบ 64” แกนนำเพื่อไทย “หญิงหน่อย”ฉะรัฐบาลจัดงบไม่รองรับ “สึนามิเศรษฐกิจ” สิ่งที่ควรจัด ไม่จัด พบส่อทุจริต ซ่อนเงื่อน “กิตติรัตน์”ชี้จัดงบตั้งอยู่บนความประมาท อาจนำประเทศสู้ภาวะล้มละลายทางการคลัง

ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร จะมีการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.2563

 

วันนี้(30 มิ.ย.63 ที่พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้มีการติวเข้มผู้อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2564 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2564 เป็นงบประมาณที่มีปัญหาหนัก เพราะเป็นการจัดงบประมาณที่เรารู้สึกว่า รัฐบาลยังไม่ได้รู้สึกว่ากำลังจะเจอสึนามิทางเศรษฐกิจที่หนักหน่วง  ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรองรับวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ทั้งในแง่ของการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนที่จะรับมือกับเศรษฐกิจ สิ่งที่ควรจัด ไม่จัด แต่สิ่งที่ไม่ควรตั้งงบกลับมี

 

การจัดงบประมาณไร้วิสัยทัศน์ ไม่รู้ว่าจะหารายได้จากไหน เราจึงเสนอให้ลงทุนกับด้านระบบสาธารณสุข เพราะเหลือการท่องเที่ยวที่จะเป็นรายได้ได้ แต่ต้องทำให้คนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ แต่รัฐบาลกลับลงทุนในงบประมาณที่ไม่ควรจะจัด เช่น งบประมาณของกองทัพในหลายรายการ รัฐบาลยังให้ความมั่นคงของประเทศในด้านการทหาร ทั้งที่ความมั่นคงต่อจากนี้คือเรื่องสาธารณสุข

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ที่สำคัญยังไม่เห็นการจัดงบประมาณที่จะเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นรัฐบาลที่มีเงินใช้มากที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องจับตาดูว่างบฯ จำนวนมากเหล่านี้ จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีการจัดงบที่ส่อทุจริต ซ่อนเงื่อน ซึ่งเราจะมีส.ส.ที่เตรียมอภิปรายในประเด็นนี้ด้วย

                                               ฉะรัฐบาลจัด “งบ64” หญิงหน่อย ซัด ไม่รองรับสึนามิเศรษฐกิจ

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อเห็นเอกสารงบประมาณปี 2564 ไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องปล่อยให้มีการเขียนงบประมาณออกมาเช่นนี้ได้อย่างไร

“ผมอยากเรียนขอร้อง ชวนให้พวกท่าน(ส.ส.)ไม่รับหลักการ และหากผู้อภิปรายจะกรุณาวิงวอนขอร้องส.ส.ของซีกรัฐบาลให้ร่วมไม่รับหลักการด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง”

 

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตนมองว่า สิ่งที่เรากำลังพิจาณรากันอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะเป็นการจัดทำงบประมาณที่ตั้งอยู่บนความประมาทเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะนำประเทศไปสู้ภาวะล้มละลายทางการคลังทั้งระยะสั้น และระยะยาว

 

ดังนั้น เป็นไปได้มั้ยที่เราจะพิจารณางบฯ เหมือนนี่เป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของประเทศ เพราะเรามีรายจ่ายประจำที่รออยู่ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การจัดงบฯ รายจ่ายประจำที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำที่แท้จริงอยู่ในงบฯ อย่างมากมาย เป็นการสร้างภาระ และลดความพร้อมในการสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยงบฯขาดดุลในอนาคตได้

 

“ดังนั้น ผมขอให้ท่านได้โปรดพิจารณารายละเอียดในเอกสาร ทั้งนี้ เรายังเสนอว่าควรจัดงบประมาณขาดดุล แต่ปริมาณที่ขาดดุลควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถควบคุมได้ และควรเผื่อไว้สำหรับปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น” นายกิตติรัตน์ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อง "งบ 64" สธ.เฮ จ่อได้งบเพิ่ม หน่วยงานไหนได้เท่าไร เช็กได้ที่นี่

เช็กที่นี่ "งบ64" 10 กระทรวงไหน ได้งบ “มากสุด-น้อยสุด”

เปิดไส้ใน "งบกลาง 64" โปะเยียวยา-จ่ายฉุกเฉิน 1.4 แสนล้าน

ส่อง "งบ64" มหาวิทยาลัย ที่ไหนอู้ฟู่ ที่ไหนฝืดเคือง

ก่อนหน้านั้น นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า ส.ส.ฝ่ายค้านมีผู้แสดงเจตจำนงอภิปรายกว่า 120 คน

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามี ส.ส.หลายคนถามถึงการจัดสรรงบประมาณให้ศาลรัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งที่ผ่านมายังคงติดใจการรับงบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีสมาชิกหยิบยก ประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปราย

ขณะเดียวกันเห็นว่าการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 64 ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน แม้จะให้ข้าราชการจัดทำงบประมาณมา แต่ไม่ได้สนองต่อประชาชน จึงเป็นการจัดงบประมาณที่ข้าราชการอยากทำ แต่ประชาชนไม่ได้อยากได้

นอกจากนี้ยังติดใจเรื่องการจัดทำงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะการใช้งบประมาณจาก 3 ก้อนที่ใช้ดำเนินการซ้ำซ้อนไม่สัมพันธ์กัน คือ งบประมาณตาม พ.ร.บ.โอนงบฯ  2563 งบตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ64 แม้จะเชิญสำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้ มาชี้แจงแล้วแต่ยังไม่กระจ่างชัด

นายสุทิน กล่าวต่อว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าโลกเปลี่ยนไปมาก ส.ส.ทุกคนต้องปรับตัวตามโลก แต่รัฐบาลกลับไม่ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และยังมีงบประมาณในส่วนของงบบูรณาการให้จังหวัดที่สมาชิกยังคงติดใจ เพราะงบ64 เป็นงบที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 62 แต่มีปรับเปลี่ยนตอนมีโควิด-19 เข้ามา และยังติดใจงบบูรณาการ งบจังหวัด ที่เดิมจัดสรรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ แต่ก็จัดงบมาไว้ที่ส่วนกลางถือเป็นความซ้ำซ้อนระหว่างงบกลางกับงบจังหวัด เช่น ทำถนนหลวง เป็นต้น