5 ตุลาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ความว่า
ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ และประกาศครั้งสุดท้ายลงวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ นั้น
บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลาออกจากตําแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนตําแหน่งที่ว่าง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓๕๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ที่มาเว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ
ประวัตินายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2520 และระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยวิลเลียม ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2526
นายอาคม เข้าทำงานที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2522 ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา
นายอาคม ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ เพราะเขาเชื่อว่าหากใครทำระบบเชื่อมโยงการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด จะเป็นผู้ที่ก้าวล้ำไปอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ
นายอาคม ยังให้ความสำคัญคืกับ เรื่องคุณภาพของคนไทย โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับคุณภาพคน ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการกระจายความเจริญ ความมีเสถียรภาพ และความเป็นธรรม ซึ่งเขาเชื่อว่าการทำให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน อยู่ที่การสร้างโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เนื่องจากรายได้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต