ยกพระโอวาท “สมเด็จพระสังฆราช” ทรงเตือน “ความวิวาทเป็นภัย”

18 ต.ค. 2563 | 04:51 น.

ยกพระโอวาท “สมเด็จพระสังฆราช” ทรงเตือนสติ ความวิวาทเป็นภัย ความแตกต่างทางความคิด ย่อมไม่ใช่ภัยอันตราย เพียงแต่ต้องปรับความเข้าใจกัน ด้วยความอดทน และด้วยความเมตตา 

 

ท่ามกลางความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองของสังคม ที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายอยู่ในเวลานี้ จนหลายฝ่ายเกรงกลัวว่าจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่ 


เพื่อเป็นการเตือนสติของเราทุกคน “ฐานเศรษฐกิจ” ขอน้อมนำพระโอวาทเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยกมาเตือนสติสังคมไทยให้ได้ฉุกคิดกัน


โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โพสต์ข้อความว่า "วันพุธ ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ทรงเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท

 

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า


“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทไว้ว่า ท่านทั้งหลาย จงเห็นความวิวาทเป็นภัย และความไม่วิวาทเป็นความปลอดภัย แล้วเป็นผู้พร้อมเพรียง มีความประนีประนอมกันเถิด 


ธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน หรือทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ บุคคลย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ตามพื้นฐานจิตใจ แนวคิด ทฤษฎี และประสบการณ์ที่ขัดเกลาบุคคลแต่ละคนมาแตกต่างกัน ผู้ไม่มีคุณธรรมหนักแน่นมั่นคงในใจเพียงพอ ย่อมเห็นว่าความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตนนั้นเป็นความผิด เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ จนอาจนำไปสู่ความวิวาทร้าวฉานกันในหมู่คณะได้ 


วิธีที่จะระงับมิให้ความบาดหมางลุกลามใหญ่โต จนกลายเป็นการแตกความสามัคคี ในเบื้องต้น ขอให้ทุกคนพึงอบรมสั่งสมให้มี “ขันติ” คือความอดทนต่อสิ่งที่ไม่สบอารมณ์ ไม่เป็นที่พึงพอใจของตนก่อน จากนั้น จงระลึกถึงคุณธรรมข้อ “เมตตา” โดยให้พิจารณาว่าเราทั้งหลายก็ล้วนเป็นเพื่อนร่วมหน่วยงานเดียวกัน หรือถ้าจะว่าในทางธรรมะ ก็คือเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น 

 

 

ครั้นกระแสแห่งเมตตาธรรมเข้าเอิบอาบซาบซึมอยู่ในหัวใจแล้ว ความคิดที่จะทะเลาะกันก็ย่อมหายไปเอง ต่อให้มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็จะกลายเป็นความแตกต่างเพื่อสร้างสรรค์ แต่ละฝ่ายย่อมจะหันมาประนีประนอมกัน รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน นำมาซึ่งข้อยุติแห่งปัญหา ก่อให้เกิดแนวทางสร้างสรรค์ สามารถจรรโลงหมู่คณะและสังคมส่วนรวมให้ก้าวหน้าไปได้โดยสวัสดี ด้วยอานุภาพของคุณธรรมความสามัคคี 


เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกท่าน จงเห็นว่าความคิดที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน ถ้าหากว่าทุกท่านหวังดีต่อองค์กรแล้ว ความแตกต่างทางความคิดย่อมไม่ใช่ภัยอันตราย เพียงแต่ต้องปรับความเข้าใจกัน ด้วยความอดทน และด้วยความเมตตา 
อย่างไรก็ตาม ขอให้ระมัดระวังการวิวาทบาดหมาง จนถึงขั้นผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้าย นั่นจัดเป็นภัยใหญ่หลวง ที่จะทำลายทั้งตนเองและส่วนรวมให้ย่อยยับไปได้ในที่สุด 


ถ้าท่านทั้งหลายมีสติระลึกรู้อยู่ในความสามัคคีเสมอ อาตมภาพก็ขอรับประกัน ด้วยธรรมะของพระพุทธองค์ว่า ภัยร้ายหรือความเสื่อมจะไม่มีวันบังเกิดขึ้นกับหมู่คณะ ท่านจะประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป”