วันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้นำตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง อายุ 23 ปี แกนนำคณะราษฎร 2563
ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1587/2563 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), 215 วรรคสาม, 83, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 19 - 30 ต.ค. นี้ เนื่องจากต้องสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหามาประกอบสำนวนการสอบสวน
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ กรณีวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 มีการชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายภาณุพงศ์ จาดนอก กับพวก กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางเข้ามารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณฟุตบาทด้านหน้า ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นนายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหาในคดีนี้ พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันผลักดันประตูรั้ว ม.ธรรมศาสตร์ จนแม่กุญแจที่ล็อคประตูรั้วได้รับความเสียหาย กลุ่มผู้ชุมนุมจึงสามารถเข้ามาภายใน ม.ธรรมศาสตร์ ได้ มีการใช้รถเวทีปราศรัยเคลื่อนที่พร้อมด้วยเครื่องขยายเสียงในการปราศรัย และกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งยังได้มีการตัดเหล็กแม่กุญแจของประตู ม.ธรรมศาสตร์ ด้านท่าเรือท่าพระจันทร์อีกด้วย ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ไปยังพื้นที่ท้องสนามหลวง และได้พังรั้วสนามหลวงฝั่งหญ้า พร้อมจัดตั้งเวทีปราศรัยและจัดกิจกรรมบนเวทีปราศรัยใหญ่ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 06.44 น. นายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหาในคดีนี้ พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร โดยนำหมุดมาฝังลงบนพื้นที่ท้องสนามหลวงบริเวณหน้าเวที ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเจาะทำลายพื้นบริเวณดังกล่าว เพื่อใช้ในการประกอบพิธีฯ
พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหานี้ ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1587/2563 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 20.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาลกับพวก สามารถติดตามจับกุมนายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหานี้ตามหมายจับและแจ้งสิทธิ์ตามกฎหมาย ก่อนควบคุมตัวผู้ต้องหาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องฝากขังนายนายภาณุพงศ์อีก 1 สำนวน ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, แก้ไข เปลี่ยนแปลง ต่อเติม ทำลายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเป็นหนังสือจากอธิบดี กรณีนายภาณุพงศ์ร่วมกันทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร อันเป็นการขุดเจาะ ทำลายพื้นบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นโบราณสถาน เพื่อใช้ในการประกอบพิธีฯ ทำให้พื้นปูนในบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินจำนวน 16,781.62 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358 และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุฯ เหตุเกิดบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้ง 2 สำนวน
ท้ายคำร้องทั้ง 2 สำนวน พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองในลักษณะเดิมเหมือนที่ผ่านมา ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดีและหลายท้องที่ ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง อีกทั้งผู้ต้องหายังมีหมายจับศาลแขวงปทุมวันที่ 190/2563 และ 169/2563 ลงวันที่ 17 ต.ค. 2563 หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี
ภายหลังฝากขังแล้ว ศาลได้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนและคำร้องคัดค้านการฝากขังของนายภานุพงศ์ มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้สำนวนคดีละ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-25 ต.ค.นี้ ต่อมาทนายความของนายภาณุพงศ์ ยื่นคำร้องพร้อมเงินสดขออนุญาตปล่อยชั่วคราวนายภาณุพงศ์ มูลค่าสำนวนละ 1 แสนบาท รวมเป็น 2 แสนบาท คำร้องประกันขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฝากขังนั้น ตามกฎหมายพนักงานสอบสวนสามารถยื่นขอได้คราวละ 12 วัน แต่ศาลจะกำหนดให้ฝากขังกี่วัน ถือเป็นเป็นดุลยพินิจของศาลและตามเหตุจำเป็นในคดีนั้นๆ ด้วย
ต่อมาเวลา 17.30 น. ศาลฯไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายภาณุพงศ์ แกนนำคณะราษฎร 2563 โดยเจ้าหน้าที่นำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป