วันนี้ (28 ต.ค.63) ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพส.ส. จำนวน 32 คนของฝ่ายรัฐบาล และอีก 32 คนของฝ่ายค้านสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) เนื่องจากประกอบธุรกิจหรือถือครองหุ้นสื่อหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตส.ส .พรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกสภาพความเป็นส.สสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3) ประกอบมาตรา 101(6) นับตั้งแต่ วันที่ 6 ก.พ.62 ซึ่งเป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง
เนื่องจากเห็นว่า นายธัญญ์วาริน ถือครองหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัทแอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด โดยทั้ง 2 บริษัทข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับโฆษณา ภาพยนตร์ และการแสดง ซึ่งถือว่า เป็นสื่อกลาง ส่งข่าวสาร หรือเนื้อหาสาระไปสู่ประชาชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้โดยทั่วไป แม้ไม่ปรากฏว่าบริษัทเฮดอัพฯ และบริษัทแอมฟายน์ฯ ได้ยื่นคำร้อง หรือประกอบกิจการจดแจ้งตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของบริษัทจัดตั้งขึ้นเกี่ยวกับสื่อ นัยความหมายเดียวกับมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังพบข้อพิรุธกรณีการโอนหุ้นของนายธัญญ์วาริน ที่โอนหุ้นให้บุคคลอื่น โดยพบว่า มีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2562 ทั้ง 2 บริษัท และนำส่งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันเดียวกัน โดยเป็นการดำเนินการภายหลังถูกยื่นคำร้องถือครองหุ้นสื่อต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 2 บริษัทดังกล่าวระบุในแบบ บอจ.5 ว่า โอนหุ้นตั้งแต่ 11 ม.ค. 2562 อย่างไรก็ตามการประชุมผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัทดังกล่าวที่ผ่านมากระทำในเดือน เม.ย. เป็นหลัก ดังนั้นการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2562 จึงเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย อีกทั้งหากนายธัญญ์วาริน มีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง ย่อมสามารถแจ้งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็ว ก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องคดีนี้ได้
“และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายธัญญ์วาริน มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา นายธัญญ์วารินไม่ได้มาชี้แจงแต่อย่างใด จึงเป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี เมื่อข้อพิรุธหลายประการดังกล่าวประกอบกัน พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงฟังได้ว่า นายธัญญ์วาริน เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท เฮด อัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ ในวันที่ 6 ก.พ.62 อันเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต. และทำให้สมาชิกภาพส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลงนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟัง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากเห็นว่า ในคำวินิจฉัยที่5/63 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 ที่ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคจึงไม่มีรายชื่อสมาชิกในลำดับถัดไปที่จะเลื่อนขึ้นมาแทน เป็นกรณีเหตุทำให้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105วรรคหนึ่ง(2)ประกอบมาตรา 83วรรคสาม”
ทั้งนี้ นายธัญญ์วาริน เป็นส.ส.พรรคฝ่ายค้านเพียงคนเดียวที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง จากจำนวนส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน 64 คนที่ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ